อันนั้นก็เสียดาย อันนี้ก็เสียดาย อีกหนึ่งพฤติกรรมแปลกที่เป็นภัยเงียบของ ‘โรคชอบสะสมของ‘ หรือ Hoarding Disorder
เคยเป็นไหม เวลาที่เรากำลังจะทำความสะอาดบ้าน แต่ทำไปทำมา อันนั้นก็ทิ้งไม่ลง อันนี้ก็เสียดาย จนสุดท้ายของก็ยังคงกองอยู่เต็มบ้านบ้าง ในห้องเก็บของบ้าง นานวันเข้าก็กลายเป็นขยะที่เราไม่ใช้แต่ก็ไม่กล้าทิ้ง เพราะเสียดาย และหากคุณกำลังมีพฤติกรรมเหล่านี้ ให้สังเกตตัวเองเลยว่า คุณกำลังเป็นโรคชอบสะสมของ หรือไม่?
โรคชอบสะสมของ หรือ Hoarding Disorder คืออะไร?
เป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง ถือเป็นโรคทางจิตเวชชนิดใหม่ พบได้ทั่วไป 2-5 เปอร์เซ็นต์ สมาคมจิตเวชศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาหรือ American Psychiatric Association ได้ให้คำนิยามถึงโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของว่า “เป็นการเก็บสะสมสิ่งของที่ผู้อื่นมองว่าไม่มีค่าไว้มากเกินไป”
โดยผู้ที่มีอาการดังกล่าวจะไม่สามารถตัดใจทิ้งสิ่งของที่เก็บสะสมเอาไว้ได้ โดยเชื่อว่าของเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในอนาคต จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทำให้บ้านหรือที่ทำงานเต็มไปด้วยสิ่งของที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีพฤติกรรมแตกต่างจากนักสะสม เนื่องจากจะเก็บแต่สิ่งของทั่วไปที่ไม่ได้หายากหรือมีราคา และไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น หนังสือพิมพ์เก่า นิตยสารเก่า กล่องพัสดุ ขวดน้ำ เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีอาการของโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของมีจำนวนประมาณร้อยละ 2-6 ของประชากรบนโลก และมักพบได้ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 55-94 ปี แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็สามารถมีพฤติกรรมเหล่านี้ได้

สาเหตุของโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ
แม้ว่าโรคดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลและสาเหตุที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่ามีพฤติกรรมและอาการบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดโรคเก็บสะสมสิ่งของ ได้แก่
- โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ Obsessive-Compulsive Disorder (OCD)
- โรควิตกกังวล
- อาการผิดปกติทางบุคลิกภาพ
- โรคซึมเศร้า
- พฤติกรรมเสพติดต่างๆ
- โรค PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder
- ภาวะสูญเสียที่รุนแรง
- โรคชราที่ส่งผลให้ขยับร่างกายไม่ได้
- โรคสมองเสื่อม
- โรคจิตเภท
- โรคกลัวการเข้าสังคม
อาการของโรคที่สังเกตเห็นได้ชัดมีดังนี้
- ตัดใจทิ้งสิ่งของไม่ได้ถึงแม้ว่าสิ่งของนั้นจะไม่มีประโยชน์และความจำเป็นจะต้องใช้
- ชอบเก็บสิ่งของที่ไม่สำคัญเช่น หนังสือพิมพ์ จดหมายเก่า หรือนิตยสารเก่า
- มีความต้องการอยากเก็บสะสมสิ่งของ
- รู้สึกทุกข์ทนเมื่อต้องทิ้งสิ่งของ
- วางสิ่งของตามทางเดินในบ้านจนไม่เหลือพื้นที่ใช้สอย
- ที่อยู่อาศัยไม่สะอาด หรือมีสิ่งสกปรกที่อาจก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค
- ยึดติดว่าของทุกชิ้นเป็นของสำคัญ
- ไม่อยากพบปะผู้คน
- เสพติดการซื้อของ
- ชอบอยู่ในที่มืด
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY