แพทย์เตือน! พ่อแม่เด็กเล็ก อากาศร้อนต้องระวัง ไข้หวัดแดดในเด็ก เชื้อไข้หวัดใหญ่ในช่วงหน้าร้อน อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
หน้าร้อนปีนี้บอกเลยว่าเดือด เพราะ กรมอุตุนิยม คาดการ์ณไว้ว่าอุณหภูมิหน้าร้อนประเทศไทยจะสูงถึง 43 องศาเซลเซียล มันร้อนไปไหม? แน่นอนว่าอุณหภูมิสภาพแวดล้อมมีผลต่อสุขภาพอยู่แล้ว หน้าร้อนนอกจากจะต้องระวังโรคฮีทสโตรกแล้ว ในเด็กเล็กก็ต้องระวังโรค ไข้หวัดแดดในเด็ก หรือว่า ไข้หวัดใหญ่ ในช่วงหน้าร้อนนั่นเอง วันนี้ Bright TV พามาดูอาการ สาเหตุและวิธีการป้องกันโรคนี้กัน

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึง ไข้หวัดแดดในเด็ก ว่า “ในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นและอากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นช่วงที่เด็ก ๆ ปิดเทอม โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน ส่วนใหญ่ต่างพากันเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นจากการเจอแสงแดด อากาศร้อน และการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย ซึ่งเด็กๆมีภูมิต้านทานไม่มากนักจึงมักเจ็บป่วยได้ง่าย ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจสุขภาพของบุตรหลาน หมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และหากพบความผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง”
อาการของไข้แดด
อาการของไข้แดดมักเกิดจากการสัมผัสกับความร้อนหรือแสงแดดจัดเป็นเวลานาน จนทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและขาดน้ำ โดยอาการที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้
- รู้สึกกระหายน้ำมากขึ้น
- คลื่นไส้หรืออาเจียน อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ เป็นลม
- ปวดหัว หงุดหงิด
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ผิวแดง ผิวอบอุ่นขึ้น และแห้ง
- เหงื่อออกมากจนผิวชื้น
- อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น แต่ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส
อาการของไข้แดดที่รุนแรง
- คลื่นไส้และอาเจียนจนไม่สามารถดื่มน้ำได้
- อาการขาดน้ำ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปัสสาวะสีเข้ม ปากแห้ง
- หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ไม่มีเหงื่อออก ชัก หมดสติ
- กล้ามเนื้อเป็นตะคริวนานกว่า 4 ชั่วโมง
- มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
- วิงเวียนศีรษะนานกว่า 2 ชั่วโมง หลังจากดื่มน้ำเพิ่มขึ้นแล้ว
สาเหตุของอาการของไข้แดด
มักเกิดขึ้นจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแดดจัด อุณหภูมิสูง อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงบ่อย หรืออากาศถ่ายเทไม่ดี ส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นในผู้ที่มีระบบประสาทส่วนกลางทำงานไม่สมบูรณ์ ทำให้ไม่สามารถจัดการกับการเปลี่ยนของอุณหภูมิร่างกายได้อย่างเหมาะสม ซึ่งระบบประสาทส่วนกลางของเด็กอาจยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้เกิดอาการของไข้แดดได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเด็กอยู่ในพื้นที่ร้อนหรือมีแดดจัดเป็นเวลานาน และต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมากและขยับร่างกายอย่างหนัก เช่น วิ่งเล่น ออกกำลังกาย กระโดด อาจส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจเกิดเป็นไข้แดดได้
วิธีการดูแลป้องกัน
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เด็กๆ ต้องนอนอย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดต่อวันให้เพียงพอเพื่อลดการสูญเสียน้ำจากเหงื่อที่เสียไปในฤดูร้อน
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ หรือพกเจลล้างมือติดตัวเพื่อสะดวกในการล้างมือ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- พยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปใกล้ชิดปะปนกับคนที่เป็นหวัด ไอ น้ำมูก เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อ
- คุณพ่อคุณแม่หมั่นทำความสะอาดบ้าน ของเล่นที่ลูกใช้อยู่เป็นประจำเพื่อลดการสะสมเชื้อโรค
- ไม่เข้าไปในสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด ระบบการถ่ายเทอากาศไม่ดีเช่น ตลาดนัด โรงภาพยนตร์
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้แก่เด็ก โดยเริ่มฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนเป็นต้นไปและฉีดกระตุ้นซ้ำทุกปี
การรักษาอาการของไข้แดด
การรักษาอาการของไข้แดดในเด็กอาจช่วยลดอุณหภูมิภายในร่างกาย และลดผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายใน ดังนี้
- การอาบน้ำเย็น เป็นวิธีรักษาที่อาจช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งนำเด็กมาแช่ตัวในน้ำเย็นได้เร็วเท่าไหร่ ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและความเสียหายของอวัยวะภายในก็จะลดลงตามไปด้วย
- การลดอุณหภูมิร่างกายด้วยไอน้ำ หากเด็กไม่สามารถแช่น้ำเย็นได้ คุณหมออาจลดอุณหภูมิร่างกายโดยการใช้ไอน้ำพ่นบนร่างกาย ซึ่งอาจจะช่วยให้ผิวหนังเย็นลง
- การประคบน้ำแข็งและใช้ผ้าเย็น เป็นวิธีการประคบเย็นบริเวณขาหนีบ คอ หลัง และรักแร้ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย
- การให้ยาเพื่อลดอาการสั่น การรักษาที่กล่าวมาข้างต้นอาจทำให้เด็กมีอาการสั่น คุณหมออาจให้ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) เพื่อช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดอาการสั่น
แหล่งที่มา hellokhunmor และ hfocus
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY