เตือนภัย! คนที่ชอบดื่มเหล้าจัด ดื่มเป็นประจำทุกวัน สูบบุหรี่ ระวัง! มะเร็งตับ ถามหา โรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนหลายราย
หลายๆ คนน่าจะคุ้นชินกับชื่อโรคนี้ น่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างหรือมีคนรอบตัวเจอนั่นคือ โรคมะเร็งตับ นั่นเอง เป็นมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโรคมะเร็งที่เกิดในผู้ชายไทย โดยมักพบในคนอายุ 30-70 ปี และพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า เนื่องจากเพศชายมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง โดยโรคมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ ซึ่งวันนี้ Bright TV จะมานำเสนอว่า โรคมะเร็งตับ มีอาการยังไงบ้าง และสาเหตุมาจากอะไร รวมถึงวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้กันค่ะ

อาการของมะเร็งตับ
มะเร็งตับในระยะแรก มักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการ ดังนี้
- ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณข้างขวาส่วนบน ในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หลังหรือไหล่
- ท้องบวมขึ้น
- น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอยากอาหาร
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
- คลำพบก้อนที่บริเวณตับ
- ตัวเหลืองและตาเหลือง
ซึ่งอาการที่จะพบส่วนใหญ่จะเริ่มสังเกตุได้ในตอนที่มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง เริ่มมีท้องบวมขึ้น เนื่องจากตับเริ่มทำงานได้ไม่ปกติจนส่งผลต่ออวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย
สาเหตุของการเกิดมะเร็งตับ
- เพศชาย
- ประชากรในประเทศเอเชียตามมาด้วยกลุ่มลาตินอเมริกา
- ผู้ป่วยที่มีประวัติไวรัสตับอักเสบบีหรือซี
- ผู้ป่วยที่มีโรคตับแข็งจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น ภาวะไขมันเกาะตับจนทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ, กลุ่มโรคที่มีการอักเสบของท่อน้ำดีเรื้อรัง, หรือกลุ่มโรคพันธุกรรมที่ทำให้มีเหล็กพอกตับ
- การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
- การสูบบุหรี่
- โรคอ้วน เบาหวานและกลุ่มโรคเมตาบอลิก
- การได้รับสารพิษชนิด Aflatoxins
- การได้รับสาร vinyl chloride และ thorium dioxide ที่พบในอุตสาหกรรมพลาสติกมาเป็นเวลานาน
- การใช้ฮอร์โมนประเภท anabolic steroids เช่น ฮอร์โมนเพศชายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้ออย่างผิดวิธี
วิธีการป้องกันมะเร็งตับ
- ลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เป็นโรคตับแข็งและกลายเป็นมะเร็งตับได้
- ผู้ที่เป็นพาหะหรือสงสัยว่าเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีหรือซี และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดและตรวจหามะเร็งตับระยะแรกทุกๆ 6 เดือน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) เช่น ถั่วลิสงบด, หัวหอม, พริกแห้ง และกระเทียมที่มีราขึ้น เพราะสารพิษชนิดนี้มีความทนทานต่อความร้อนสูง ไม่สามารถทำลายได้แม้จะนำไปประกอบอาหารผ่านความร้อน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) เช่น อาหารจำพวกโปรตีนหมัก เช่น ปลาร้า, ปลาส้ม, หมูส้ม และแหนมเป็นต้น อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว เช่น ไส้กรอก, กุนเชียง, เนื้อเค็ม, และปลาเค็มเป็นต้น
- ไม่รับประทานปลาน้ำจืดแบบดิบๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิด
- การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
การรักษาโรคมะเร็งตับ
หลักการรักษามะเร็งตับ คือ ถ้าอยู่ในระยะที่สามารถผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกได้ก็จะใช้วิธีการผ่าตัดหรือการปลูกถ่ายตับ แต่ถ้าอยู่ในระยะโรคที่ก้อนมีขนาดใหญ่มากหรือมีหลายๆ ก้อน เช่น 3-5 ก้อนขึ้นไป อาจจะต้องใช้วิธีการรักษาด้วยวิธีฉีดยาเคมีบำบัดเข้าทางเส้นเลือดหรือการรับประทานเคมีบำบัด หรือการรักษาตามอาการในผู้ป่วยระยะท้ายๆ แต่ปัญหาที่มักเจอได้บ่อยๆ คือ คนทั่วไปมักจะไม่ให้ความสำคัญในการตรวจคัดกรอง โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโตมาก มีน้ำในช่องท้อง ซึ่งอาการดังกล่าวจะอยู่ในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้แล้ว ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคระบบทางเดินอาหารและตับเป็นสิ่งที่จำเป็น หากพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อย เช่น เบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อย จุกชายโครงขวา ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรอง
ใครที่ยังไม่ใส่ใจสุขภาพ ไม่ใส่การรับประทานอาหารของตัวเอง หรือว่ายังปาร์ตี้หนัก ไม่รักสุขภาพ ต้องเริ่มหันมาดูแลตัวเองได้แล้ว ก่อนที่ร่างกายของเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปและไม่ทันที่จะรักษามันไว้ ดังนั้นหลังจากอ่านจบบทความนี้ต้องเริ่มดูแลสุขภาพได้เลย
แหล่งที่มา bumrungrad และ nonthavej
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY