เช้า สาย บ่าย ดึก ต้องเล่นมือถือตลอด คุณอาจจะกำลังเป็น โรคกลัวการขาดมือถือ

เช้า สาย บ่าย ดึก ต้องเล่นมือถือตลอด หากไม่ได้เล่นจะรู้สึกกระวนกระวาย คุณอาจจะกำลังเป็น โรคกลัวการขาดมือถือ หรือ โนโมโฟเบีย

กิจวัตรประจำวันของเราในแต่ละวันเป็นอย่างไร ตั้งแต่ตื่นนอนมาใครที่รีบคว้าโทรศัพท์มือถือมาใช้งานทันที หรือนอนหลับไปทั้ง ๆ ที่โทรศัพท์ยังคาอยู่ในมือ และตลอดทั้งวันก็จดจ่ออยู่กับการรับส่งข้อความต่าง ๆ โดยเฉพาะใครที่ชอบแชะ แชร์ อัพ ในโซเชียล แน่นอนว่าถือเป็นอาการเสพติดสมาร์ทโฟนอย่างไม่ต้องเดาเลย ยิ่งหากวันไหนมีเหตุให้ต้องงดเล่นโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแล้วมีอาการกังวลใจเกินกว่าเหตุ หรือที่เราเรียกว่า “โนโมโฟเบีย” คงไม่ดีแน่

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายคำว่า “โนโมโฟเบีย” ในนิยามทางการแพทย์นั้นไม่ใช่โรค แต่เป็นกลุ่มอาการ เพราะมีการสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนหรือสังคม เวลามีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นมักจะมีคำเรียกเฉพาะ อย่างเช่น อาการติดสมาร์ทโฟน เป็นไปตามเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่

ซึ่งคำว่า “โนโมโฟเบีย” มาจากการที่โทรศัพท์มือถือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ของชีวิตประจำวัน และเราเกิดความกังวลใจว่าถ้าไม่มีโทรศัพท์แล้วจะทำอย่างไร ควรรีบเช็กตัวเองก่อนเกิดผลกระทบ

เทคโนโลยีสมาร์ทโฟน ทำหน้าที่ได้หลากหลายฟังก์ชั่น จึงมีการใช้ในการดำเนินชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความสามารถของโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูป การเล่นโซเชียล จนเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจนรู้สึกว่าขาดไม่ได้

จะรู้ได้อย่างไรกว่าคุณเข้าข่าย โมโนโฟเบีย? เมื่อคุณพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา ต้องคอยเช็กข้อความ เช็คโซเชียลสม่ำเสมอ แม้กระทั่งได้ยินเสียงคล้าย ๆ เสียงข้อความเข้า ถ้าไม่ได้ตรวจดูโทรศัพท์จะมีอาการกระวนกระวายใจ ไม่สามารถทำงานหรือปฏิบัติภารกิจตรงหน้าได้สำเร็จ ต้องดูหน้าจอโทรศัพท์เพื่อเช็กข้อความก่อน เมื่อตื่นนอนรีบคว้าโทรศัพท์มาเช็กข้อความ หรือก่อนนอนเล่นโทรศัพท์จนกระทั่งหลับ ใช้โทรศัพท์ระหว่างทานข้าว เข้าห้องน้ำ ขับรถ นั่งรอรถโดยสารประจำทาง และรถไฟฟ้า

อาการกังวลใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน เช่น บางคนลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านกลับรู้สึกเฉย ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติทั้งวัน อาจจะเป็นเพราะใช้งานน้อยอยู่แล้วหรือใช้เท่าที่จำเป็นจึงไม่ได้กระทบมาก บางคนรู้สึกกังวลใจแค่ในชั่วโมงแรก แต่ช่วงหลังเมื่อหาวิธีสื่อสารด้วยทางอื่นได้ก็หมดกังวล

แต่บางคนรู้สึกว่าอดทนได้น้อย รู้สึกกระวนกระวาย วุ่นวายใจ หรือเวลาไปอยู่ในที่อับสัญญาณ ไม่สามารถอัพโหลดภาพได้ บางคนรุนแรงถึงขั้นหงุดหงิด ฉุนเฉียว โวยวายเรื่องไม่มีโทรศัพท์หรือใช้โทรศัพท์ไม่ได้ถือว่าเยอะไปแล้ว เพราะทำให้คนรอบข้างรู้สึกแย่ ไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีผลเสียหรือผลกระทบต่อสุขภาพกายที่ทราบกันมาตลอด คือ เรื่องสายตา หรือถ้าเล่นนาน ๆ จะมีอาการปวดศีรษะตามมา และปัญหาเรื่องสมาธิเพราะตัวภาพและจอจะรบกวนทำให้ระบบสมาธิลดลง

ดังนั้น อาการโนโมโฟเบียไม่ได้เป็นโรครุนแรงที่ต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา แค่ปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันของตัวเองหากิจกรรมอื่น ๆ ทำนอกเหนือจากการพักผ่อนด้วยการเล่นเกม ฟังเพลง ดูหนังในโทรศัพท์มือถือ เช่น ออกไปวิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ ไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ นั่งพูดคุยกับเพื่อนแบบเห็นหน้ากัน แต่ทั้งนี้อยู่ที่ว่าถ้าเราเริ่มรู้สึกว่ามีผลกระทบ เช่น รู้สึกกังวลใจมาก ไม่สบายใจบ่อย ๆ หงุดหงิดง่าย ควรเริ่มปรับเปลี่ยนซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง

ข้อมูลจาก : แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า