เช็กด่วน! พฤติกรรมเสี่ยงก่อนที่จะเป็น “โรคกระเพาะทะลุ” จะได้เลี่ยงทัน ก่อนปวดท้องรุนแรง เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
เคยได้ยินโรคนี้ไหม?? “โรคกระเพาะทะลุ” หรือ “โรคกระเพาะอาหารทะลุ” เป็นอีกโรคหนึ่งที่จะมีอาการปวดท้องรุนแรงมาก รวมถึงอาจพบการเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เกิดจากการที่ผนังกระเพาะอาหารมีรูรั่ว และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อีกด้วย แล้วพฤติกรรมไหนที่เสี่ยงทำให้เกิดโรคนี้บ้างมาดูเลย

สาเหตุของกระเพาะทะลุ
หากเป็นกระเพาะทะลุที่เกิดขึ้นเองนั้น ในทางการแพทย์ยังคงไม่ทราบถึงสาเหตุแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดกระเพาะทะลุ ได้แก่
- ความเครียด
- การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่
- การใช้ยาเสพติด เช่น โคเคน หรือแอมเฟทามีน
- การติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs อย่างแอสไพริน ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน ยาสเตียรอยด์ และยาเคมีบำบัดบางชนิด
- การเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร และกลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome) ซึ่งทำให้มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากผิดปกติ แต่เป็นโรคที่พบได้น้อย
- การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน
- อุบัติเหตุทางร่างกาย เช่น มีดหรือกระสุนทะลุกระเพาะอาหาร การกลืนวัตถุลงกระเพาะอาหาร เช่น ของเล่น เครื่องเขียน เป็นต้น
- การส่องตรวจกระเพาะอาหารด้วยกล้อง อาจทำให้กระเพาะทะลุได้เช่นกัน แม้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก
อาการของกระเพาะทะลุ
- ปวดท้องมาก โดยเฉพาะเมื่อถูกสัมผัสหรือคลำตรวจ โดยผู้ป่วยมักท้องบวมและท้องแข็งกว่าปกติ ซึ่งมีอาการดีขึ้นเมื่อนอนนิ่ง ๆ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย
- ปัสสาวะ อุจจาระ หรือผายลมน้อยกว่าปกติ
- หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบเหนื่อย
ใครบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยง?
- ผู้ที่รับประทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาหม้อ ยาลูกกลอนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยาอาจทำให้เกิดการระคายเคือง กระเพาะอาหาร จนเกิดแผล และเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร หากแผลลึกอาจส่งผลให้กระเพาะทะลุได้
- ผู้ป่วยที่เคยมีแผลในกระเพาะอาหาร หากมีสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร จะมีโอกาสเกิดแผลในกระเพาะอาหารซ้ำได้มากขึ้น
- การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร มักเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ทำให้เกิดการอักเสบและแผลในกระเพาะอาหาร
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่กระเพาะอาหารชนิดโตเร็ว อาจเกิดกระเพาะทะลุได้ โดยเฉพาะช่วงที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
แหล่งที่มา chulalongkornhospital และ pobpad
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY