ช่วงนี้เรามักจะเห็นประเด็นข่าวที่เกี่ยวกับผู้ที่คุ้มคลั่งทำร้ายผู้อื่นโดยไม่มีสาเหตุ และไม่ได้รู้จักกับผู้ที่เข้าไปทำร้ายมาก่อน ซึ่งโดยส่วนใหญ่เมื่อทำการตรวจสอบประวัติแล้ว มักพบว่าคนร้ายเป็น ผู้ป่วยจิตเวช หรือเคยเข้ารับการรักษาทางจิตเวชมาก่อน แล้วเกิดอาการคุ้มคลั่งจากการที่ไม่ได้ทานยา หรือเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อเป็นการทำความเข้าใจ และให้บุคลลทั่วไปรู้จักการสังเกตุอาการของผู้ป่วย หากเกิดอาการคุ้มคลั่งขึ้นมา เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น วันนี้เรามีข้อมูลจาก คุณดุสิดา สันติคุณาภรณ์ หัวหน้างานการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ข้อมูลเรื่องของผู้ป่วยจิตที่มีแนวโน้มในการเกิดพฤติกรรมรุนแรง

Bright Today : เราสามารถแบ่งลักษณะของผู้ป่วยจิตเวช ได้กี่ประเภท ?
พยาบาล : หากจะให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายๆ สามารถแบ่งตามหลักใหญ่ๆได้คือ
ความผิดปกติที่เกิดจากทางกาย จากการเสื่อมสภาพ เช่น สมองเสื่อม ทำให้มีปัญหาเรื่องการคิด ความจำ การรับรู้สถานที่ เวลา บุคคล การคำนวณ การใช้ภาษา เป็นต้น
ความผิดปกติทางจิต เป็นความผิดปกติทางด้านความคิดและการรับรู้ อาการเด่นๆคือมีหูแว่ว เห็นภาพหลอน หรือมีอาการหวาดระแวง กลัวคนจะมาทำร้าย หรือคิดว่ามีคนนินทาตัวเอง
ความผิดปกติทางด้านประสาท จะเป็นเรื่องของความคิดเป็นหลัก เช่น อาการย้ำคิดย้ำทำ โรคเครียด โรควิตกกังวล (anxiety disorder)
ความผิดปกติทางอารมณ์ มีความผิดปกติทางด้านอารมณ์เป็นหลัก เป็นพวกอารมณ์แปรปรวน ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ หัวเราะมาก หรือเศร้ามากผิดปกติ เช่น โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว
ความผิดปกติทางพฤติกรรมและบุคลิกภาพ เป็นโรคที่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เช่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง โรคบุคลิกแบบก้ำกึ่ง

Bright Today : ปัจจัยอะไรที่จะกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมก่อความรุนแรงได้บ้าง?
พยาบาล : สามารถแยกได้เป็นหลายปัจจัยทั้งจากในร่างกายและนอกร่ายกาย
สารเคมีในสมอง เมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลคุณหมอจะให้ยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีเหล่านี้ ถ้าผู้ป่วยกลับบ้านไปแล้วไม่รับประทานยาตามแผนการรักษา จะทำให้อาการกลับมาเป็นอีก
การใช้สารเสพติดหรือการดื่มสุรา สารบางตัวกระตุ้นประสาททำให้ผู้ป่วยตื่นตัว เพิ่มความกังวล
บุคลิกภาพของผู้ป่วย ด้วยบุคลิกภาพเดิมของผู้ป่วยที่มีความรู้สึกต่อต้านสังคมก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ทำร้ายผู้อื่นที่ไม่รู้จักได้
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ได้รับการกดดันจากคนรอบข้าง (ญาติ คนดูแล หรือเพื่อนบ้าน) แสง เสียงที่ทำให้ผู้ป่วยหงุดหงิดรำคาญ
Bright Today : เราจะสังเกตุได้อย่างไรว่า ผู้ป่วยจิตเวชมีความเสี่ยงที่จะก่อความรุนแรง หรือทำร้ายคนอื่น ?
พยาบาล : ความจริงผู้ป่วยทุกประเภทที่กล่าวมาก็มีสิทธิที่จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว แต่เราจะรู้ได้อย่างไรนั้น เราต้องสังเกตจากอาการของผู้ป่วย (early warning signs) ดูได้จากทางคำพูด และทางด้านร่างกาย
ทางด้านคำพูด เช่น ใช้คำพูดตำหนิ ติเตียน วิพากษ์วิจารณ์ พูดในแง่ร้าย เสียงดัง ขู่ตะคอก เอะอะอาละวาด วางอำนาจ วาจาหยาบคาย
ทางด้านร่างกาย เช่น มีสีหน้าบึ้งตึงแววตาไม่เป็นมิตร ท่าทางไม่พอใจ กระวนกระวาย พฤติกรรมก้าวร้าวเริ่มทำลายสิ่งของ หรือทำร้ายตนเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : คุณดุสิดา สันติคุณาภรณ์ หัวหน้างานการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล