ทำความรู้จักโรค “แก้วหูแตก” หรือ “แก้วหูทะลุ” สาเหตุเกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไรบ้าง และมีวิธีการป้องกันอย่างไร
มาที่โรคสุดคุ้นหูกันบ้าง แก้วหูทะลุ ก่อนอื่นเลยต้องทำความรู้จักหน้าที่ของ แก้วหู หรือ เยื่อแก้วหู ของคนเราเป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ กั้นระหว่างรูหูและหูชั้นกลาง เป็นอวัยวะสําคัญสําหรับการได้ยินของมนุษย์ และยังทําหน้าที่เป็นเกราะป้องกันน้ำ เชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปสู่หูชั้นกลาง หากแก้วหูแตกหรือทะลุ นั่นหมายความว่าเยื่อแก้วหูมีการฉีกขาดหรือเป็นรู ทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินและการติดเชื้อนั่นเอง

สาเหตุของแก้วหูทะลุ
- ใช้อุปกรณ์แหย่หู
- การแคะในรูหู
- โดนแรงกระแทก เช่น โดนตบบ้องหู
- ดำน้ำลึก
- อุบัติเหตุหรือการกระทบกระเมือนที่หูอย่างรุนแรง
อาการของหูทะลุ
- มีอาการมีไข้ ไม่สบาย
- ปวดหู
- มีหนองไหลออกจากหู มีลักษณะเป็นๆ หายๆ อาจจะไม่ค่อยปวดมาก
- มีผลต่อการได้ยินทำให้ได้ยินเสียงลดลง
- มีเสียงอื้อในหู
วิธีการป้องกัน
- ไม่แหย่หรือใส่วัตถุใด ๆ เข้าไปในหู วัตถุ เช่น ก้านสําลีหรือคลิปหนีบกระดาษอาจทำให้แก้วหูทะลุได้ หากจําเป็นต้องทำความสะอาดใบหู ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดบริเวณภายนอก
- ไปพบแพทย์หากมีไข้ ปวดหู และการได้ยินลดลง เนื่องจากอาการเหล่านี้เป็นอาการของการติดเชื้อในหูชั้นกลางซึ่งอาจทําให้แก้วหูได้รับความเสียหาย
- เมื่อเดินทางโดยเครื่องบิน ควรป้องกันโดยการใส่ที่อุดหูปรับความดัน เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือหาวบ่อย ๆ อาจใช้วิธี Valsalva maneuver เพื่อเคลียร์หูโดยการบีบจมูกและปิดปาก แล้วหายใจออกแรง ๆ เหมือนกับกำลังสั่งน้ำมูก
- สวมที่ครอบหูลดเสียงหรือที่อุดหูป้องกันหากทำงานในที่มีเสียงดังมาก ๆ เช่น งานก่อสร้าง
การรักษา
โดยปกติแล้วอาการแก้วหูแตกหรือแก้วหูทะลุสามารถหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หากมีการติดเชื้อ อาจต้องหยดยาปฏิชีวนะ หากไม่หาย แพทย์อาจแนะนำให้ทำการรักษาดังต่อไปนี้
- การปิดเยื่อแก้วหู (Eardrum patch): แพทย์จะแปะกระดาษเพื่อปิดรูฉีกขาด ซึ่งอาจต้องทำซ้ำหลายครั้งถึงจะหายสนิท
- การผ่าตัดปะแก้วหูที่ทะลุ (Tympanoplasty): แพทย์จะนำเนื้อเยื่อของผู้ป่วยมาปิดแก้วหูที่ทะลุ ซึ่งขั้นตอนนี้ไม่จำเป็นต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล
แหล่งที่มา medpark และ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY