ไหน ๆ ปีใหม่นี้ใครที่เป็นสายแคมป์ปิ้ง มีแพลนจะไปเที่ยวป่าเขา ขึ้นเหนือขึ้นดอย ไปกลางเต้นชมทะเลหมอก สัมผัสอาการหนาว ๆ บ้าง ยกมือหน่อย แต่หากใครที่อยากไปเก็บบรรยากาศดี ๆ ในป่าเขา ก็ต้องระวัง กับโรคที่อาจจะตามมาอย่าง โรคไข้รากสาดใหญ่ หรือ โรคสครับไทฟัส ด้วยนะ
Scrub Typhus (โรคสครับไทฟัส) หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) มีไรอ่อนเป็นพาหะนำโรค ซึ่งไรอ่อนมักจะอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้ หรือทุ่งหญ้าในป่าละเมาะ เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้ออาจทำให้เกิดอาการ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามตัว มีผื่นคัน คลื่นไส้และอาเจียน ปกติเราจะ มองไม่เห็นตัวไรอ่อนเพราะมีขนาดเล็กมาก ประมาณ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น ส่วนใหญ่จะกัดที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ รอบเอว
อาการของโรคไข้รากสาดใหญ่
หากถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10 – 12 วัน จะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย บริเวณที่ถูกกัดอาจมีผื่นแดง ขนาดเล็กค่อยๆ นูนหรือใหญ่ขึ้น อาจพบแผลคล้ายบุหรี่ (Eschar) แต่ไม่ปวดและไม่คัน บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ และอาจทําให้เสียชีวิตได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้รากสาดใหญ่
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคนี้ ได้แก่
- โรคตับอักเสบ
- ปอดอักเสบ (Pneumonitis)
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
- เยื่อหุ้มสมองกับสมองอักเสบ (Meningoencephalitis)
- ภาวะที่มีการแข็งตัวของก้อนเลือดกระจายไปทั่วร่างกาย (Disseminated Intravascular Coagulation)
- การทำงานของอวัยวะในร่างกายล้มเหลว (Multi-Organ Failure)
การป้องกันโรคไข้รากสาดใหญ่
เนื่องจากโรค Scrub Typhus ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยงของการติดเชื้อ คือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัด ซึ่งมีวิธีป้องกันดังนี้
- ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค Scrub Typhus ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีพืชพรรณและพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยพุ่มไม้หรือต้นไม้ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นที่ที่ตัวไรอ่อนชอบอาศัยอยู่
- ใช้สารไล่แมลงที่มีส่วนประกอบของสาร DEET 20-30% หรือสารที่ได้รับการรับรองว่าใช้สำหรับต่อต้านตัวไรอ่อน ทั้งแบบที่ใช้กับผิวหนังหรือเสื้อผ้า นอกจากนั้น ควรใช้ตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด เช่น
- เวลาที่ควรใช้ซ้ำ
- ไม่ควรพ่นสเปรย์บนผิวหนังใต้เสื้อผ้า
- หากใช้ครีมหรือโลชั่นป้องกันแสงแดด ควรใช้กันแดดก่อนค่อยทาสารไล่แมลง
- ใช้สารเพอร์เมทรินลงบนเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น รองเท้า เสื้อผ้า และอุปกรณ์ที่ใช้ตั้งแคมป์ หรืออาจใช้อุปกรณ์ที่มีสารเพอร์เมทรินอยู่แล้ว ซึ่งสารเพอร์เมทรินจะมีฤทธิ์ฆ่าตัวไรอ่อน และถึงแม้จะซักผ้าที่มีสารดังกล่าวไปแล้วหลายครั้ง ก็ยังคงช่วยป้องกันได้ แต่ควรอ่านรายละเอียดที่ฉลากว่าจะช่วยป้องกันได้นานเท่าไหร่ รวมไปถึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุอยู่บนฉลากอย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้สารเพอร์เมทรินกับผิวหนังโดยตรง เพราะจะใช้กับเสื้อผ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ เท่านั้น