เฝ้าระวัง ฝีดาษลิง มีการเปลี่ยนแปลงในเซลล์เร็วกว่า 10 เท่า ไวรัสอาจมีปรับเปลี่ยนโฮสต์จากสัตว์เป็นคน ซึ่งอาจแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น
จากกรณีข่าวการแพร่ระบาดของไวรัส ฝีดาษลิง ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ประชาชนต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หาความรู้และติดตามข่าวให้ทันท่วงทีเพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก และมีความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมรู้เท่าทันต่อสถานการณ์โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก

ล่าสุด 30 พ.ค. 65 ทางเพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ได้ออกมาอัพเดทข่าวสารเกี่ยวกับไวรัส ฝีดาษลิง ว่าต้องเฝ้าระวังให้ดียิ่งขึ้น เพราะไวรัสชนิดนี้เปลี่ยนแปลงเร็วกว่า 10 เท่าซึ่งพัฒนาเร็วกว่าไวรัสตัวอื่นๆที่เคยมีมา โดยเบื้องต้นได้ให้ข้อมูลว่า
ไวรัส ฝีดาษลิง ที่ระบาดขณะนี้ มีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าปกติถึง 10 เท่า อาจเป็นไปได้ว่าไวรัสปรับเปลี่ยนโฮสต์จากสัตว์ตัวกลาง เป็นคน ทำให้การแพร่กระจายเกิดจากคนสู่คนง่ายขึ้น

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ‘Anan Jongkaewwattana’
ไวรัสฝีดาษลิง มีสารพันธุกรรมเป็น DNA ซึ่งแตกต่างจาก ไวรัสโรคโควิด หรือ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็น RNA การเปลี่ยนแปลงของ DNA เปลี่ยนยากกว่า RNA มาก ทำให้ไวรัสในกลุ่มนี้มักมีลำดับพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงช้า ปกติจะพบการเปลี่ยนแปลงประมาณ 1 ตำแหน่งต่อปีเท่านั้น แต่ผลการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิงที่ระบาดในหลายประเทศตอนนี้พบว่า มีความแตกต่างจากไวรัสที่เคยแยกได้ตอนที่กระโดดจากสัตว์มาหาคนเมื่อ 4 ปีก่อน ใน UK สิงคโปร์ และ อิสราเอล ถึง 40 ตำแหน่ง จากเดิมที่เชื่อว่า ถ้าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามธรรมชาติ เราคาดว่าน่าจะมีความแตกต่างกันเพียง 4 – 5 ตำแหน่งเท่านั้นในระยะเวลาที่ต่างกันดังกล่าว แสดงว่าไวรัสที่ระบาดในหลายพื้นที่ตอนนี้ มีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วกว่าไวรัสปกติถึง 10 เท่า
- ตอนนี้ยังไม่มีใครมีคำตอบที่แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับไวรัสฝีดาษลิง ปี2022 (ขอเรียกว่า MPXV-2022) นี้ แต่มีสมมติฐานที่น่าสนใจ ซึ่งส่วนตัวผมเห็นด้วย และ คิดว่ามีประเด็นน่าคิด ผลการถอดรหัสไวรัส MPXV-2022การเปลี่ยนแปลง 40 ตำแหน่งพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปแบบเดียวกันคือ จากเดิม GA เปลี่ยนเป็น AA และ จากเดิม TC เปลี่ยนเป็น TT เป็นแบบจำเพาะเจาะจงมากไม่ใช่การเปลี่ยนแบบสุ่ม หรือ เปลี่ยนไปเรื่อย การเปลี่ยนลักษณะแบบนี้มีสาเหตุหลักมาจาก การเปลี่ยนตัวเองของไวรัสหนีกลไกของโฮสต์ ซึ่งปกติโฮสต์จะมีเอนไซม์อยู่ชนิดนึงที่ทำหน้าที่ไปจับลำดับเบสของไวรัสแล้วคอยเปลี่ยนเบสดังกล่าว ทำให้เกิดมิวเตชั่นในสารพันธุกรรมของไวรัส เปลี่ยนไปเยอะๆจนในที่สุดไวรัสไปต่อไม่ได้จึงสูญเสียความสามารถในการเพิ่มจำนวนของตัวเองในที่สุด เอนไซม์ดังกล่าว (ชื่อว่า APOBEC) ในแต่ละสปีชีร์ของโฮสต์จะจับลำดับเบสที่ต่างกันไป ของหนูจับอย่างนึง ของคนก็จับอย่างหนึ่งไม่เหมือนกัน ตัวไวรัสเองก็จะต้องมีวิธีในการอยู่ร่วมกับโฮสต์ได้ วิธีนึงคือ เปลี่ยนตำแหน่งที่ APOBEC ของโฮสต์จะจับไปเป็นตัวอื่นเพื่อหนีการตรวจจับของเอนไซม์ดังกล่าว ซึ่งเป็นกลไกการเปลี่ยนแปลงตัวเองทำให้เกิดวิวัฒนาการของไวรัสนั้นๆให้ดำรงอยู่กับโฮสต์ได้ ปกติการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวใช้เวลานานพอสมควร

- ประเด็นที่น่าสนใจคือ GA และ TC ที่ MPXV-2022 มีการเปลี่ยนแปลงถึง 40 ตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งที่ APOBEC ของคนใช้ในการตรวจจับ เพื่อทำการจัดการไวรัสตัวนั้น การที่ MPXV-2022 เปลี่ยนตำแหน่งดังกล่าวแบบจำเพาะเจาะจงแบบนี้ อาจเป็นกลไกที่ไวรัสพยายามหนีการจับของเอนไซม์ของคนเพื่อความอยู่รอดในโฮสต์ใหม่ ทำให้นักวิจัยหลายท่านตั้งสมมติฐานว่า อาจเป็นไปได้ว่า MPXV-2022 วนเวียนอยู่ในประชากรมนุษย์มาเป็นเวลานานพอสมควรทีเดียว ไวรัสอาจมีปรับเปลี่ยนโฮสต์จากสัตว์ตัวกลางเป็นคน ซึ่งทำให้การแพร่กระจายเกิดจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ต้องย้ำอีกทีว่า เป็นสมมติฐานที่มีการวิเคราะห์มาจากข้อมูลลำดับพันธุกรรมของไวรัสนะครับ ยังไม่มีข้อมูลการแยกไวรัสออกมาเปรียบเทียบคุณสมบัติการเพิ่มจำนวนในเซลล์คนเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เก่า ว่าต่างกันมากน้อยอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าคงมีให้วิเคราะห์กันต่อในไม่ช้าครับ

อ่านข่าวที่น่าสนใจ
- เฝ้าระวัง! ฝีดาษลิง เข้าประเทศมีผื่นส่งตรวจเชื้อทันที แจ้ง โรคนี้ติดได้ทุกคน
- “หมอปลาย พรายกระซิบ” เผยคำทำนาย โรคระบาด ฝีดาษลิง ลั่น! รักษาศีลก็ไม่รอด
- ฝีดาษลิง เข้าเอเชียแล้ว! สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) พบผู้ติดเชื้อ รายแรกแล้ว
- หมอยง เผยหลักฐาน ฝีดาษลิง ติดต่อจาก สัตว์ตระกูลฟันแทะ หนู กระรอก ลั่น จึงไม่ยุติธรรมสำหรับลิง