ส่องโมเดล “ประปาเอกชน” เกาะภูเก็ต ผันน้ำข้ามทะเลหล่อเลี้ยง “ท่องเที่ยว-ชาวบ้าน” 

ภูเก็ต เป็นจังหวัดท่องเที่ยวอันดับต้นๆของประเทศไทย และติดอันดับ 10 เมืองจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวและพักผ่อน ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนม.ค.-ก.ย.2561 มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวที่ จ.ภูเก็ต 10.74 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวที่สูงถึงปีละ 12-13 ล้านคน และประชากรชาวภูเก็ตที่มี 4 แสนคน รวมทั้งประชากรแฝง และแรงงานต่างด้าวอีก 1.6 ล้านคน ทำให้ทุกวันนี้เกาะภูเก็ตต้องรับมือกับประชากรไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคน และหนึ่งในปัญหาสำคัญที่สุดที่เกาะภูเก็ตต้องเผชิญในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา คือ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ

แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมาการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาภูเก็ต จะเร่งลงทุนและขยายเขตพื้นที่ส่งน้ำประปา โดยอาศัยแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ เช่น อ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ สถานีสูบน้ำคลองบางใหญ่-บางวาด และอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ รวมทั้งจัดหาน้ำจากผู้ผลิตน้ำประปาเอกชนในพื้นที่ แต่น้ำอุปโภคบริโภคก็ยังอยู่ในภาวะขาดแคลนอยู่ดี

ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในหลายพื้นที่ ต้องแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ด้วยการจัดหาเอกชนมาลงทุนผลิตน้ำมันประปา แม้กระทั่งว่าจ้างเอกชนลงทุนระบบบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำดีเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เช่น เทศบาลเมืองป่าตอง ที่ว่าจ้างบริษัท ดับเบิ้ลยูโอจี ไอทีอาร์ วอเตอร์ โซลูชั่น จำกัด บริหารโครงการผลิตและจัดการน้ำดี (RO)

แต่นั่นก็ไม่อาจบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญๆ รวมทั้งการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้านใน จ.ภูเก็ตได้

ข้อมูลจากโครงการชลประทานภูเก็ต ระบุว่า ปัจจุบันภูเก็ตขาดแคลนน้ำประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/ปี และในปี 2575 การขาดแคลนน้ำจะเพิ่มเป็น 40 ล้านลบ.ม./ปี ในขณะที่ จ.ภูเก็ต มีแผนสร้างแอ่งเก็บน้ำใต้ดินใน 5 พื้นที่ เพื่อกักเก็บน้ำต้นทุนรวม 30 ล้านลบ.ม. รวมทั้งเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำผิวดิน แต่เป็นการลงทุนที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท

พิธีเปิดโครงการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาส่งให้พื้นที่บางส่วนของ จ.ภูเก็ต และพังงา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา บริษัท โกลด์ ชอร์ส จำกัด ได้เปิดตัวโครงการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาส่งให้พื้นที่บางส่วนของ จ.ภูเก็ต และพังงา อย่างเป็นทางการ ในขณะที่โครงการผลิตน้ำประปาแห่งนี้ ถือเป็นโครงการผลิตน้ำประปาของเอกชนแห่งแรก ที่ผันน้ำจากนอกพื้นที่บนฝั่งเข้ามายังพื้นที่เกาะภูเก็ต

สุวิชา พานิชผล กรรมการบริษัท โกลด์ ชอร์ส จำกัด ระบุว่า บริษัทฯได้รับสัมปทานประกอบกิจการน้ำประปาส่งให้กับพื้นที่ ต.ไม้ขาว และต.สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นเวลา 30 ปี หรือตั้งแต่ปี 2562-2591 โดยจะนำน้ำดิบจากขุมเหมืองเก่า เนื้อที่ 340 ไร่ ที่ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มาผ่านกระบวนการผลิตเป็นน้ำประปาก่อนส่งผ่านระบบท่อข้ามทะเลมายัง จ.ภูเก็ต

ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 85% ของวงเงินลงทุนทั้งโครงการ 2,000 ล้านบาท โดยได้ลงทุนปรับปรุงบ่อกักเก็บน้ำดิบที่ อ.ท้ายเหมือง ให้สามารถกักเก็บน้ำได้ 3 ล้านลบ.ม. พร้อมทั้งลงทุนสร้างโรงงานผลิตน้ำประปาในบริเวณใกล้แหล่งน้ำดิบ โดยแหล่งน้ำและโรงงานผลิตน้ำประปาแห่งนี้ มีกำลังการผลิตน้ำประปาได้สูงสุด 30 ล้านลบ.ม./ปี หรือคิดเป็นกำลังผลิตน้ำสูงสุด 1 แสนลบ.ม./วัน

เมื่อโรงานผลิตน้ำประปาได้แล้ว น้ำประปาดังกล่าวจะส่งผ่านท่อเป็นระยะทาง 23 กิโลเมตร มายังถังพักขนาดใหญ่ หรือ 6,000 ลบ.ม. 4 ถัง หรือคิดเป็น 24,000 ลบ.ม. ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่หัวเกาะ ที่ อ.ถลาง ก่อนจะส่งน้ำผ่านท่อประปาที่ขนานเลียบหาดตั้งแต่หาดทรายแก้วถึงหาดป่าตอง รวมเป็นระยะทาง 41 กิโลเมตร และตามแนวท่อจะมีสถานีเพิ่มแรงดันน้ำ

“การลงทุนจะแบ่งเป็น 4 เฟส คือ เฟสแรก 24,000 ลบ.ม./วัน โดยเริ่มส่งไปแล้วตั้งแต่เมื่อต้นปี 2562 ขณะนี้อยู่ระหว่างลงทุนถังเก็บน้ำเฟสสองอีก 4 ถัง หรืออีก 24,000 ลบ.ม. ซึ่งจะแล้วเสร็จกลางปีนี้ และภายในปี 2564 จะขยายให้ครบ 4 เฟส ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตน้ำประปาได้ 96,000 ลบ.ม./วัน”สุวิชากล่าว

สุวิชา ระบุว่า แม้ว่าการลงทุนผลิตน้ำประปาโครงการนี้ จะทำให้บริษัทฯกลายเป็นเอกชนที่ผลิตน้ำประปาที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ แต่น้ำประปาที่ผลิตได้จะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้น้ำของแหล่งท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากกปภ.สาขาภูเก็ต ประเมินว่าในปี 2565 ความต้องการใช้น้ำประปาในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จะเพิ่มเป็น 250,000 ลบ.ม./วัน

“ตอนนี้ความต้องการใช้น้ำประปาใน จ.ภูเก็ตอยู่ที่ 80,000-90,000 ลบ.ม./วัน แต่กปภ.ผลิตได้เพียง 50,000 ลบ.ม./วัน น้ำประปาที่เหลือจะมาจากเอกชนในพื้นที่ ทั้งเอกชนที่ผลิตน้ำประปาจากแหล่งน้ำผิวดิน และน้ำประปาจากแหล่งน้ำบาดาล แต่ในปี 2565 ความต้องการจะเพิ่มเป็น 250,000 ลบ.ม./วัน”สุวิชากล่าว

สุวิชา พานิชผล

สุวิชา ยังบอกว่า ถึงแม้ว่าบริษัทฯจะได้รับสัมปทานกิจการน้ำประปาจากภาครัฐ แต่อัตราค่าน้ำประปาที่ขายให้กิจการต่างๆและชาวบ้านจะถูกกว่าค่าน้ำประปาและค่าน้ำที่ซื้อขายทั่วไปใน จ.ภูเก็ต คือ หากเป็นครัวเรือนค่าน้ำจะอยู่ที่ 5 บาท/ลบ.ม. หากเป็นธุรกิจขนาดเล็กค่าน้ำจะอยู่ที่ 12 บาท/ลบ.ม. และหากเป็นอุตสาหกรรม ธุรกิจขนาดใหญ่ ค่าน้ำจะอยู่ที่ 28 บาท/ลบ.ม. รวมทั้งจะขายน้ำประปาในราคาส่งให้กปภ. ซึ่งปัจจุบันกปภ.รับซื้อที่ 15 บาท/ลบ.ม.

“เราสามารถผลิตและส่งน้ำประปาได้ในราคาถูกกว่าเอกชนในพื้นที่ โดยเฉพาะถูกกว่าค่าน้ำประปาที่ผลิตจากน้ำบาดาลที่ราคาอยู่ที่ 50-100 บาท/ลบ.ม. หรือในบางพื้นที่ไม่สามารถขุดน้ำบาดาลได้ก็ต้องขนน้ำมาจากนอกจากพื้นที่เข้ามา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ยังไม่รวมค่าน้ำอยู่ที่คันละ 800 บาท”นายสุวิชากล่าว

สุวิชา กล่าวว่า หลังจากปี 2564 ไปแล้ว บริษัทฯมีแผนขยายพื้นที่แหล่งกักเก็บน้ำดิบที่ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เป็น 10 ล้านลบ.ม. และจะลงทุนถังพักน้ำเพิ่มอีกเท่าตัว เพื่อทำให้ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาเป็น 2 แสนลบ.ม./วัน เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำประปาในอนาคตทั้งใน จ.ภูเก็ต และจ.พังงา ซึ่งการท่องเที่ยวเติบโตทุกปี

ส่วนเสียงตอบรับของชาวบ้านในพื้นที่นั้น สมพร แทนสกุล ผู้ใหญ่บ้าน ม.5 บ้านท่าฉัตรชัย ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาของระบบน้ำประปาในพื้นที่ คือ อปท.ไม่มีศักยภาพเพียงพอ แม้ว่าภาครัฐจะจัดสรรงบมาให้สำหรับทำน้ำประปามาให้หลายก้อน แต่น้ำประปาที่ผลิตได้คุณภาพไม่ดี ใช้อุปโภคบริโภคไม่ได้

“ส่วนตัวมองว่าเปิดให้เอกชนผลิตน้ำประปาขายให้ชาวบ้านในราคาที่เหมาะสม ถือเป็นทางออกที่ดี แต่มีเงื่อนไขว่าน้ำประปาต้องไหลตลอดเวลา”สมพรกล่าว

ขณะที่เจ้าของหอพักสระพานสารสิน ม.5 บ้านท่าฉัตรชัย ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ตนเองเคยใช้น้ำประปาที่ อบต.ผลิต แม้ว่าจะราคาเพียง 3 บาท/ลบ.ม. แต่น้ำประปาที่ผลิตได้ไม่มีคุณภาพ เมื่อนำไปใช้อาบได้ทำให้เกิดผื่นและแผลพุพอง ดังนั้น การเปิดให้เอกชนผลิตและขายน้ำประปาให้ชาวบ้าน 5 บาท/ลบ.ม. ตนเองก็ยอมจ่าย

“ถึงแม้ว่าน้ำประปาที่เอกชนขายจะมีราคาค่าน้ำแพงกว่าของอบต. คือ มีราคา 5 บาท/ลบ.ม. ทางเราก็ยอมจ่าย เพราะตอนนี้ทางหอพักใช้วิธีสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ แต่ก็พบว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงมาก”เจ้าของหอพักระบุ

แม้ว่าปัจจุบันการให้สัมปทานเอกชนผลิตน้ำประปา จะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในหลายพื้นที่ และลดการลงทุนของภาครัฐและกปภ.ลงไปได้มาก แต่ภาครัฐและท้องถิ่นจำเป็นต้องลงมากำกับดูแลเกี่ยวกับคุณภาพน้ำให้ดีสม่ำเสมอ และกำหนดอัตราค่าน้ำที่เป็นธรรม ที่สำคัญน้ำประปาต้องไหลตลอดเวลา

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า