เชื่อว่าวันนี้หลายคนเตรียมตัวเดินทางกลับ บางท่านอาจต้องใช้เวลาขับรถเป็นเวลายาวนาน ร่างกายอาจเกิดอาการปวดเมื่อยขึ้นได้ การปรับเบาะรถ ให้เหมาะสมจะช่วยลดอาการเมื่อยขบให้น้อยลงได้
อาการปวดเมื่อยขณะขับรถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากขณะรถเคลื่อนที่เราจะทรงตัวได้ยากกว่าการนั่งเก้าอี้ธรรมดา กล้ามเนื้อหลังต้องทำงานตลอดเวลาและมีอาการปวดหลังได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องขับรถนานกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน มักพบอาการปวดหลังได้บ่อย
ปรับเบาะไม่ปวดหลัง
- ปรับพวงมาลัยยกขึ้นให้สุด และดันไปด้านหน้าให้สุด
- ปรับที่นั่งให้ต่ำที่สุด จากนั้นปรับที่นั่งให้ด้านหน้าเทลงไปให้สุด แล้วปรับพนักพิงให้เอียงไปทางด้านหลังประมาณ 30 องศา ปรับส่วนรองรับหลังไปทางด้านหลังให้มากที่สุด ดันที่นั่งให้ไปด้านหลังให้สุด
- ยกที่นั่งขึ้นจนมองเห็นได้รอบ ที่นั่งไม่ควรสูงเกินไปจนศีรษะชิดกับหลังคารถด้านใน เลื่อนเก้าอี้มาทางด้านหน้าจนเท้าสามารถควบคุมคันเร่ง เบรก และ คลัตช์ ได้สะดวก อาจปรับความสูงที่นั่งได้อีกเล็กน้อยเพื่อให้ใช้เท้าเหยียบคันบังคับได้ดีขึ้น
- ปรับความลาดเอียงของที่นั่งจนต้นขาสัมผัสกับที่นั่งทั้งหมด ระวังไม่ให้มีแรงกดที่ด้านหลังของเข่ามากไป ปรับพนักพิงให้พิงได้จนถึงระดับไหล่ ไม่ควรเอนเก้าอี้ไปทางด้านหลังมากเกินไป เพราะทำให้ไม่ได้พิงหลัง และการมองเห็นไม่ดีผู้ขับขี่ต้องก้มคอเพื่อให้มองเห็นชัดขึ้น
- ปรับส่วนรองรับโค้งของหลังให้รู้สึกว่ามีแรงกดเท่ากันตลอดของหลังส่วนล่าง หรืออาจใช้หมอนเล็กหนุนหลังส่วนล่างแทนได้
- ปรับพวงมาลัยให้เข้ามาใกล้ตัวและดันลงให้อยู่ในระยะที่จับได้สะดวก โดยให้มีช่องว่างยกขาท่อนบนได้บ้างขณะใช้เท้าบังคับรถ และขณะลุกออกจากที่นั่ง ตรวจดูว่าพวงมาลัยไม่บังหน้าปัด
- ปรับพนักพิงศีรษะให้สูงเท่าระดับศีรษะ
ในการขับรถควรพักทุก 2 ชั่วโมง เพื่อลุกออกมาบริหารร่างกายโดยการยืนแอ่นหลัง 10 วินาที 2-3 ครั้ง และเดินไปมาประมาณ 5 นาที แต่หากต้องขับรถยาวนานเกิน 2 ชั่วโมง พยายามแอ่นหลังบ่อย ๆ ในขณะขับรถ จะช่วยลดอาการปวดเมื่อยจากการขับรถเป็นเวลานานได้
เดินทางปลอดภัยนะคะ
ข้อมูล : มูลนิธิหมอชาวบ้าน