โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภัยใกล้ตัว ที่อาจจะทำให้คุณเสียชีวิตได้ภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ โดยเป็น 1 ใน 3 ของสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดในประเทศไทยที่ใกล้เคียงกับการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและโรคมะเร็ง
จากกรณี “ป๋าเต็ด” ยุทธนา บุญอ้อม ผู้ก่อตั้งคอนเสิร์ต บิ๊กเมาท์เทน ถูกหามตัวส่งโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เนื่องจากมีอาการหัวใจวายเฉียบพลัน จนต้องเข้ารับผ่าตัดบอลลูนหัวใจโดยด่วน เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา จึงเกิดเป็นความตระหนักขึ้นได้ว่า การดูแลสุขภาพถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตของเราเป็นที่สุด ไบรท์ออนไลน์ วันนี้ จึงอยากพาเพื่อน ๆ มารู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน” เพื่อลดความเสี่ยงก่อนเกิดโรคนี้กัน
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเกิดขึ้นได้อย่างไร
อ.พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวไว้ในพบหมอรามาว่า “โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเกิดจากการที่ตัวเส้นเลือดที่ไปล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดการตีบตันและไปเลี้ยงไม่พอ อันดับแรกเกิดจากการที่มีไขมันไปสะสมอยู่ในบริเวณผนังของหลอดเลือด เมื่อสะสมเยอะขึ้นก็จะเริ่มมีตัวเม็ดเลือดขาวมาจับกินไขมัน หลังจากจับกินไปสักพักก็จะเปลี่ยนแปลงเป็นโฟมเซลล์ ซึ่งจะมีลักษณะค่อนข้างแข็ง เมื่อเกิดอาการแข็งแทนที่เส้นเลือดจะเต้นได้ดี แต่บริเวณที่แข็งตัวกลับเต้นได้ไม่ดี จึงเกิดเป็นการไม่สัมพันธ์กับตัวอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่ได้ดี และเมื่อทิ้งไว้นาน ๆ ก่อให้เกิดการปริแตกของเส้นเลือด ทำให้หลอดเลือดพยายามซ่อมแซมตัวเองจนเกิดเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือด เกิดเป็นการแตกตัวที่หลอดเลือดแขนงเล็กเพิ่มขึ้นอีก จึงทำให้อาการหัวใจขาดเลือดเกิดขึ้นมา”
วิธีสังเกตอาการภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
- จุกแน่นหน้าอก
- จุกแน่นหรือแสบตรงบริเวณลิ้นปี่
- อาจมีอาการเจ็บปวดร้าวที่บริเวณแขน คอ ไหล่ และกราม
- คลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น มีอาการหอบ
- เหงื่อแตกออกท่วมตัว
ทั้งนี้ ในกรณีผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานอาการที่แสดงออกอาจแตกต่างจากวิธีสังเกตข้างต้นดังกล่าว อาจมีอาการเพียงแค่จุกท้อง หรือแน่นท้องเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เส้นประสาทของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการรับรู้ได้ไม่ดีเท่าคนทั่วไป ซึ่งต้องระวังและตรวจสุขภาพอย่างเป็นประจำ
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งคัด กรณีผู้ที่พบว่าตนเองเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หลังจากการได้รับการรักษา อันดับแรกจะต้องดูแลเส้นเลือดอย่าให้มีไขมันมาพอกได้อีก โดยการรับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งคัด
- หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วย การหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันประเภทอิ่มตัว ไม่ว่าจะเป็น ไขมันจากสัตว์ อาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ ข้าวขาหมูติดมัน เนยและผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่พร่องไขมัน
- หลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอารมณ์เครียด เพราะความเครียดจะมีผลต่อสุขภาพร่างกายในหลาย ๆ ด้าน โดยการหากิจกรรมนันทนาการ เช่น ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง เล่นกีฬา เพื่อให้ผ่อนคลายทำเพิ่มเติม
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด งดชา กาแฟ บุหรี่ รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานานจะทำให้ปริมาณไขมันในเลือดมีระดับสูง ลดสมรรถภาพของหัวใจในการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ควรเริ่มจากการออกกำลังกายตามความเหมาะสมของร่างกายอย่างสม่ำเสมอร่วมด้วย
หากคุณมีอาการดังกล่าวตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วล่ะก็ ให้รีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที นอกจากนี้ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพราะการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลันนี้ อาจเป็นที่มาของภาวะข้างเคียง อย่าง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจวายเฉียบพลันที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของคุณได้ ฉะนั้นการป้องกันไว้ย่อมดีกว่าการแก้ไขอย่างแน่นอน จริงไหมคะ ?
ขอบคุณข้อมูลจาก พบหมอรามา
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ