วันเข้าพรรษา ไบร์ท ทูเดย์ ชวนดูความสำคัญของวันเข้าพรรษาผ่านพุทธประวัติสั้นๆ พร้อมทั้งสิ่งที่พุทธศาสนิกชนพึงทำ เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของเรา
พุทธศาสนิกชนคงรู้ดีอยู่แล้วว่า วันเข้าพรรษา นั้นเป็นวันที่พระสงฆ์ต้องเริ่มจำวัดนาน 3 เดือนในช่วงฤดูฝน วันเข้าพรรษาวันแรกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วันเข้าปุริมพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี สำหรับปี 2563 วันเข้าพรรษาตรงกับวันที่ 6 กรกฎาคม ไบร์ท ทูเดย์ ชวนดูความสำคัญของวันเข้าพรรษาผ่านพุทธประวัติสั้นๆ พร้อมทั้งสิ่งที่พุทธศาสนิกชนพึงทำ เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของเรา
ประวัติความเป็นมาของวันเข้าพรรษา
ในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงวางระเบียบเรื่องการเข้าพรรษาไว้ แต่การเข้าพรรษานั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์และพระสงฆ์สาวกปฏิบัติกันมาโดยปกติเนื่องด้วยพุทธจริยาวัตรในอันที่จะไม่ออกไปจาริกตามสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงฤดูฝนอยู่แล้ว เพราะการคมนาคมมีความลำบาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์ในช่วงต้นพุทธกาลมีจำนวนน้อยและส่วนใหญ่เป็นพระอริยะบุคคล จึงทราบดีว่าสิ่งใดที่พระสงฆ์ควรหรือไม่ควรกระทำ
ต่อมาเมื่อมีพระสงฆ์มากขึ้น และด้วยพระพุทธจริยาที่พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงบัญญัติพระวินัยล่วงหน้า ทำให้พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้ทรงบัญญัติเรื่องให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษาไว้ด้วย จึงเกิดเหตุการณ์กลุ่มพระสงฆ์ฉัพพัคคีย์พากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ทำให้ชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน ในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่น พากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง เป็นเวลา 3 เดือนนับแต่นั้นมา
ประเพณีไทยที่เชื่อมโยงกับวันเข้าพรรษา
เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตร ถวายเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน พร้อมทั้งจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณร หรือมีการช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ นอกจากนี้ยังไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดสุรา หรืองดเหล้าเข้าพรรษาที่เรามักได้ยินกันจนคุ้นหู นอกจากนี้วันออกพรรษายังเกี่ยวโยงกับชีวิตคนไทยจนถักทอออกมาเป็นประเพณีที่สืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นอยู่ด้วย
ประเพณีถวายเทียนพรรษา
พุทธศาสนิกชนจะถวาย เทียนพรรษา เพื่อใช้ จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ ซึ่งเทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด 3 เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นงานประเพณี “ประกวดเทียนพรรษา” ของแต่ละจังหวัดโดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ ประเพณีแห่เทียนพรรษานั้นโดดเด่นมากในจังหวัดอุบลราชธานี

ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน
พุทธศาสนิกชนทำการถวาย ผ้าอาบน้ำฝน หรือ ผ้าวัสสิกสาฏก ซึ่งเป็นผ้าเปลี่ยนสำหรับสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ เป็นผ้าลักษณะเดียวกับผ้าสบง โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น พระสงฆ์ที่มีเพียงสบงผืนเดียวจะอาบน้ำฝนจำเป็นต้องเปลือยกาย ทำให้ดูไม่งามและเหมือนนักบวชนอกศาสนา นางวิสาขามหาอุบาสิกาจึงคิดถวาย “ผ้าวัสสิกสาฏก” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยนกับผ้าสบงปกติ จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล ละเว้นอบายมุข

วันอาสาฬหบูชา 2563 ความสำคัญ 7 ประการ พร้อมด้วยหลักธรรมนำใจ https://www.brighttv.co.th/lifestyle/asarnha-bucha-day-1