หลังจากที่มีการหยุดอยู่บ้านและ Work From Home เนื่องจากสถานการณ์ โควิด19 ถึงในช่วงนี้จะมีการผ่อนปรนมากขึ้น สถานการณ์คลี่คลายมากขึ้น แต่ว่า ความเครียด ความกดดัน ที่เกิดขึ้น ก็สะสมกันมาจนถึงปัจจุบัน บางคนยังไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ ไหนจะยังมี นักเรียน นิสิต-นักศึกษา ที่จะต้องเปลี่ยนจาการเรียนในห้องเป็นการเรียนในรูปแบบของออนไลน์ บางคนก็เครียด เรียนไม่ได้ประสิทธิภาพเท่ากับเวลามาเรียนที่สถานศึกษา วันนี้ Bright Today มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.พ.ต.หญิง ดร.พนมพร พุ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์ รวมไปถึงเป็นอาจารย์จาก สาขาจิตวิทยาคลินิก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในเรื่องของ “ความพอดี” และวิธีการแก้ปัญหาจากความเครียดสะสมที่เกิดขึ้น ทั้งในคนทำงาน และนักเรียน นักศึกษา

ในฐานะที่ตนเป็นอาจารย์ ในเรื่องของการเรียนการสอนก็มีการปรับตัวไปสอนแบบออนไลน์ มาเป็นระยะๆ อาจารย์แต่ละคนก็เลยเริ่มหาวิธี ว่าจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง แต่ด้วยความที่เนื้อหาแต่ละวิชามีจำนวนนิสิตไม่เท่ากัน โปรแกรมบางอย่างก็รองรับคนได้ไม่เท่ากัน ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านพยายามเป็นอย่างมาก ทุกอย่างในระบบการสอนเดิมต้องเปลี่ยนใหม่หมดเลย เพื่อที่เวลาถ่ายทอดออกไปจะได้เหมือนกับการที่เราพูดแล้วก็ถ่ายทอดให้นิสิตที่เรียนออนไลน์เข้าใจ

ก่อนทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ก็มีเข้าไปถามในกลุ่ม LINE กับลูกศิษย์เบื้องต้นก่อนว่า เป็นอย่างกันบ้าง? เพื่อเป็นการประเมินในการจะสอนเรื่องราวต่อไป เหมือนชวนคุย ซึ่งทางลูกศิษย์ก็เข้ามาตอบด้วย รูปแบบต่างๆ ที่น่าสนใจบางคนก็ส่งสติ๊กเกอร์มา บางคนก็ทำท่าเหมือนเหนื่อยมาก อีกคนก็ทำท่าร้องไห้เหมือนว่าไม่ได้เรียน สาวนตัวคิดว่า LINE ช่วยได้มาก พอลูกศิษย์ตอบมาแบบนี้ก็เลยมีการถามต่อว่าแล้ว มีการดูแลใจตัวเองอย่างไรบ้าง? ทำยังไงให้เรามีสภาพจิตใจที่ดี แล้วเรามีวิธีการดูแลคนใกล้ตัวยังไง ก็มีลูกศิษย์บางคนเขียนมาเลยว่า ใช้กลไกทางจิตใจ ซึ่งเป็นกลไกแล้วก็แมคคานิกส์ซึมที่ได้เรียนมา แล้วมีลูกศิษย์เข้ามาใน LINE ส่วนตัว เข้ามาคุยเชิงปรึกษา
ต้องบอกว่าเป็นรุ่นนักศึกษารุ่นโควิด คนที่เป็นครูก็ต้องปรับตัว ลูกศิษย์ก็ต้องปรับตัว รู้เลยว่ามันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ของการจะวัดมันเต็มที่ ซึ่งตอนนี้มีประสานกับทางคณะ มีน้องเจ้าหน้าที่คนหนึ่งกลับมาช่วยอัดเป็นวิดีโอ เพราะว่าการสอนผ่าน LINE มันคือการใช้อินเตอร์เน็ตแต่ถ้าเกิดมันไม่เสถียร เนื้อหาตรงนั้นน่าจะหายไป เพราะฉะนั้นเราก็แก้ปัญหาโดยจะส่งไปใน LINE แล้วก็สามารถเปิดดูได้

ในส่วนของที่ถามกันว่า “แบบไหนที่จะเรียกว่าพอดี” ภาวะตรงนี้ที่เรียกว่าพอดีจริงๆ พอดีอาจจะเท่ากับคำว่า “สติ” ด้วยในตอนนี้ ทั้งความเป็นจริงที่เราคิดว่าเรากำลังอยู่ ณ ตอนนี้ เราจะมีการดูแลใจตัวเองอย่างไร ในขณะเดียวกันคำว่าดูแลใจตัวเองมันคงจะเป็นการที่ เราไหวแค่ไหน? ร่างกายเราถ้าเราดูแลตามที่ สื่อที่ออกจริงๆมุมหนึ่งช่วยได้เยอะมาก ให้เราระวัง หยิบจับ ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยเวลาที่เราออกไปข้างนอก เราเจอผู้คน เราเองระวังตัว โดยส่วนตัวเคยเป็นนักจิตวิทยาอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เคยอบรมหลักสูตรทหารมันจะมีคำว่า รุก รับ รนถอย พลังเราเยอะเราก็ใช้ชีวิตไปเลยรุกเดินหน้าไป ถ้าเกิดมันสูสีกันเราก็ตั้งรับ ถ้าไม่ไหวเราก็ต้องรับ แต่ว่าภาวะตอนนี้มันคือ “รนถอย” เราไม่ได้เหมือนกับว่าแพ้ แต่ว่าเราจะต้องเก็บตัวสร้างพลัง เป็นช่วงเวลาที่เราจะอยู่กับตัวเองแล้วหาอะไรทำ หาความถนัดตัวเราเองแล้วก็สร้างงาน เป็นจุดที่เราต้องนิ่งแล้วก็มองหาไปในอนาคตว่าเราอยากจะทำอะไร อยากจะมีอาชีพอะไร อยากจะทำงานอะไรที่เราชอบ เราถนัด
คำที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ท่านให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียง คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ในตอนนี้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วนะคะ ณ ตอนนี้ ยิ่งบ้านของเราถ้าใครอยู่ต่างจังหวัด มีบ่อน้ำ ปลูกข้าว แล้วเราเลี้ยงสัตว์ แล้วเราสามารถที่จะพอเพียง อยู่ในชีวิตของเราเอง ในภาวะที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ถ้าเรามีสติชีวิตเราก็จะก้าวได้เหมาะได้ตรง ไม่ต้องกลัวตาย ไม่ต้องกลัวจน
แต่อยากจะบอกว่า “มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้เก่ง” แต่สำหรับใครที่เจอเหตุการณ์แบบนี้แล้วเศร้า จริงๆ แล้วกรมสุขภาพจิตมี สายด่วน 1323 สามารถที่จะปรึกษาได้ 24 ชั่วโมง มีเรื่องไม่สบายใจสามารถโทรได้หรือ สมาคมสะมาริตันส์ เป็นองค์กรการกุศลที่ให้คำปรึกษากับคนที่อยากฆ่าตัวตาย สามารถโทรได้เลยตั้งแต่เที่ยงถึงสี่ทุ่ม เพราะฉะนั้น ณ ตรงนี้ ถ้าประเมิน แล้วตัวเองมีอาการทางด้านใจ เริ่มเครียดเยอะมากๆ มีหน่วยให้คำปรึกษาอยู่หลายที่