“กสทช.” ยันใช้ม.44 ช่วยผู้ประกอบการทีวิดิจิทัล-โทรคมนาคม ไม่ทำรัฐเสียประโยชน์ คาดทีวีดิจิทัลคืนไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัล 4-5 ราย
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. จะจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้อำนาจตามม.44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมและผู้ประกอบการทีวิดิจิทัล โดยจะชี้แจงรายละเอียดต่างๆให้สื่อมวลชนและผู้ประกอบการรับทราบในวันพุธที่ 17 เม.ย.2562 เวลา 11.00 น.
“ต้องขอขอบคุณหัวหน้าคสช. ที่ออกคำสั่งฉบับนี้ เพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการโทรคมนาคม อีกทั้งไม่น่าจะทำให้รัฐเสียประโยชน์”นายฐากรกล่าว
นายฐากร ยังกล่าวว่า ผลจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ผลให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่อง ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เหลืออยู่ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 13,622 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30% ของมูลค่าใบอนุญาต พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตได้ ในขณะที่สำนักงาน กสทช. จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ประกอบการที่คืนใบอนุญาต
“ทีวีดิจิทัลที่เหลือช่องทีวีน้อยลง จะทำให้อุตสาหกรรมทีวีเดินหน้าต่อไปได้ ค่าโฆษณาน่าจะมากขึ้น เบื้องต้น กสทช.ประเมินว่าจะมีผู้ประกอบการคืนใบอนุญาต 4-5 ราย ซึ่งผู้ที่ขอคืนใบอนุญาตจะต้องแจ้งกสทช.ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.2562 ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ประสงค์คืนใบอนุญาต จะมีการนำเงินจากการประมูลคลื่น 700 MHz ไปจ่ายชดเชยค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เหลืออยู่ คือ งวดที่ 5-6 และค่าเช่าโครงข่ายฯ (MUX)”นายฐากรกล่าว
ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมตามคำสั่งหัวหน้าคสช.นั้น สำนักงานกสทช.จะขยายเวลาในการชำระค่าประมูลคลื่น 900 MHz เป็น 10 งวด จากเดิม 4 งวด โดยจะหารเฉลี่ยปีละเท่าๆกัน แต่ผู้ประกอบการที่ได้รับการขยายเวลาชำระหนี้จะต้องยอมรับเงื่อนไขในการเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz ทั้งนี้ กสทช.จะนำร่างประกาศหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่น 700 MHz ออกทำประชาพิจารณ์ปลายเดือนเม.ย. และเปิดประมูลในเดือนมิ.ย.นี้
“การออกม.44 ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเซ็ตซีโร่ทางด้านโทรคมนาคมและโทรทัศน์ ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ในอนาคต เราจะต้องประเมินราคาเริ่มต้นใหม่ จากเดิมที่เราเอาราคาสุดท้ายของการประมูลเป็นราคาเริ่มต้น แต่วันนี้เราจะเอาราคาที่กสทช.ศึกษาได้มาเป็นราคาเริ่มต้นของการประมูล อย่างราคาใบอนุญาตเริ่มต้นประมูลคลื่น 700 MHz น่าจะเกิน 1.2 หมื่นล้านบาทไปบ้าง แต่ไม่ใช่กระโดดไป 7.6 หมื่นล้านบาท”นายฐากรกล่าว