ครม.เห็นชอบหลักการร่างพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ห้ามถือหุ้นไขว้ระหว่างบริษัทแม่-บริษัทลูก เพิ่มสิทธิรายย่อยระดมเสียง 2 ใน 3 ของผู้ที่มาประชุม เสนอวาระเพิ่มเติมได้
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณารวมกับร่างพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ครม.ได้มีมติไปเมื่อ 26 พ.ย.2561 เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จให้เสนอครม.อีกครั้ง
สำหรับสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฉบับนี้ จะกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เช่น เพิ่มหลักเกณฑ์ไม่ให้มีการถือหุ้นไขว้ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก, กำหนดให้บริษัทแม่ไม่สามารถนำหุ้นที่ถือโดยบริษัทลูก มานับเป็นองค์ประชุมและออกเสียงลงคะแนนได้ ,ยกเลิกการห้ามไม่ให้บริษัทเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือหุ้นส่วนไม่จำกัด, ปรับปรุงบทบัญญัติให้หุ้นบุริมสิทธิ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามมติที่ประชุม
ร่างพ.ร.บ.ยังกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการให้มีความโปร่งใส เช่น กำหนด วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ 3 ปี จากเดิมที่ไม่กำหนดเวลา แต่สามารถกลับมาเป็นกรรมการได้อีกรอบ, กรรมการสามารถนัดประชุมติดต่อผ่านระบบสื่อสารเทคโนโลยีได้โดยไม่ต้องปรากฏตัวในที่ประชุม, กรรมการอาจตั้งกรรมสำรองเพื่อเข้าประชุมแทนได้, ห้ามกรรมการเข้าร่วมประชุมและออกเสียงในเรื่องที่ตนเองมีส่วนได้ส่วนเสียเป็นพิเศษ เป็นต้น
นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ได้กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้นรายย่อย เช่น การใช้สิทธิขอตรวจทะเบียนกรรมการ หรือรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น, การให้ผู้ถือหุ้นที่มีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมพิจารณาวาระอื่น นอกเหนือจากวาระที่กำหนดในการประชุมได้, กรณีการรับโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ที่กระทบต่อกิจการของบริษัท จะกระทำได้เมื่อผู้ถือหุ้นมีมติไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม
พร้อมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการควบบริษัท จากเดิมที่การควบบริษัท ก.กับ ข. จะกลายเป็นบริษัท ค. แต่การผนวกบริษัทนั้น บริษัท ก.หรือบริษัท ข.อาจยังอยู่ก็ได้ รวมทั้งปรับปรุงในเรื่องอัตราบทลงโทษให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เช่น เดิมบริษัทมหาชนจำกัดต้องมีการตรวจสอบบัญชีหากไม่ดำเนินการจะถูกปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และปรับรายวันอีกวันละ 2,000 บาท แก้ไขเป็นปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และปรับรายวันอีกวันละ 1 หมื่นบาท
นายณัฐพร กล่าวว่า การพิจาณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้คงจะไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะต้องยุติการพิจารณากฎหมายต่างๆ 1 สัปดาห์ ก่อนจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้