สัญญาน้ำมันดิบ WTI บวก 0.4% ปิดที่ 64 เหรียญฯ หลังการส่งออกน้ำมันดิบของ “ซาอุดิฯ” ลดลงต่ำกว่า 7 ล้านบาร์เรล/วัน นักลงทุนจับตาโอเปกเพิ่มกำลังผลิตในเดือนก.ค.
เมื่อคืนวันพฤหัส (19 เม.ย.) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) งวดส่งมอบเดือนพ.ค. ปิดที่ 64.00 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.24 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 0.4% ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ งวดส่งมอบเดือนมิ.ย. ปิดที่ 71.97 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.35 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 0.5%
สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขานรับรายงานที่ว่า การส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบียลดลงต่ำกว่าระดับ 7 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการลดลง 277,000 บาร์เรล/วัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกัน สัญญาน้ำมันดิบยังคงได้รับปัจจัยหนุน จากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ที่ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐลดลง 1.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว รวมถึงการที่เบเกอร์ ฮิวจ์ รายงานว่า ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งานลดลง 8 แท่น สู่ระดับ 825 แท่นในช่วงสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 18 เม.ย.
นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันดิบทั่วโลกยังอยู่ในภาวะตึงตัว จากการที่สหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันจากเวเนซุเอลาและอิหร่าน โดยล่าสุดโรงกลั่นน้ำมันในอินเดียเตรียมหันไปนำเข้าน้ำมันดิบจากสมาชิกกลุ่มโอเปกอื่นๆ รวมถึงเม็กซิโกและสหรัฐ เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน
ทั้งนี้ EIA ได้คาดการณ์ว่าการส่งออกน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานของสหรัฐจะอยู่ที่ 8.46 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือนพ.ค. หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 80,000 บาร์เรล/วัน
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาว่า ในการประชุมกลุ่มโอเปกในเดือนมิ.ย.นี้ โอเปกจะทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมันหรือไม่ หลังสิ้นสุดข้อตกลงในการลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย.2562 โดยแหล่งข่าวระบุว่า ซาอุดีอาระเบียอาจตัดสินใจเพิ่มการผลิตตั้งแต่เดือนก.ค. หากการผลิตน้ำมันจากประเทศอื่นๆยังมีปัญหา
ด้านบมจ.ไทยออยล์รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำวันที่ 19 เม.ย. ว่า เมื่อวานนี้ (18 เม.ย.) ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐประจำสัปดาห์ ที่ปรับลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ และถือเป็นการปรับลดลงมากที่สุดในรอบ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่ซาอุดิอาระเบียปรับลดปริมาณการส่งออกน้ำมับดิบลง 0.28 ล้านบาร์เรล/วัน จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 7 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน ก.พ.2562
เช่นเดียวกับ ปริมาณการส่งออกน้ำมับดิบจากอิหร่าน ที่ปรับลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน เม.ย.2562 ซึ่งเป็นการปรับลดการส่งออกน้ำมันดิบในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบปีนี้ เป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันดิบ
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบโลกที่ตึงตัว จากการปรับลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน อย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งเป็นไปตามที่ได้มีการตกลงกัน รวมถึงกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ลดลงของอิหร่านและเวเนซุเอลา เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ