ครม.ไฟเขียวงบกว่า 2.09 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือค่าครองชีพ “สวนยาง-สวนปาล์ม” แจกเจ้าของสวนยาง-คนกรีด ไร่ละ 1,700 บาท ส่วนชาวสวนปาล์มได้ไร่ละ 1,500 บาท พร้อมอนุมัติ 159 ล้านบาท ช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง โดยจะจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยางพาราในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ที่เปิดกรีดแล้ว และขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยจ่ายตามพื้นที่เปิดกรีดจริงไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่
แบ่งเป็นการจ่ายเงินให้เจ้าของสวนยาง 1,100 บาท/ไร่ และคนกรีดยาง 700 บาท/ไร่ ระยะเวลาดำเนินการ 10 เดือน (ธ.ค.2561-ก.ย.2562) โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 17,512 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินที่จ่ายให้เจ้าของสวนยางและคนกรีดยาง 17,007 ล้านบาท
พร้อมกันนั้น ครม.เห็นชอบโครงการส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรรวบรวมยางพาราเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเพื่อรวบรวม วงเงิน 5,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 ธ.ค.2561-28 ก.พ.2563 โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 3.99% ต่อปี หรือเป็นเงิน 199.50 ล้านบาท
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบโครงการรณรงค์สร้างถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ซึ่งโครงการดังกล่าวจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ สำรวจว่าเงินสะสมของอบต.มีเหลืออยู่เท่าใด และระยะทางถนนที่อบต.จะสร้างมีเท่าไหร่ และให้ส่งข้อมูลไปยัง กยท.เพื่อคำนวณความต้องการน้ำยางและงบเพิ่มเติม สำหรับสร้างถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพาราของอบต.
นายณัฐพร กล่าวว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยจะจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนปาล์ม ที่มีปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตแล้ว (อายุมากกว่า 3 ปี) 1.5 แสนราย พื้นที่รวม 2.25 ล้านไร่ โดยเป็นการช่วยเหลือตามพื้นที่ปลูกจริง ในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งจะใช้งบ 3,458 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินที่จ่ายให้ชาวสวนปาล์ม 3,375 ล้านบาท
ทั้งนี้ ชาวสวนปาล์มที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันกับกรมส่งเสริมการเกษตรภาย ในเดือนธ.ค.2561 ส่วนกรณีที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ให้มาปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และจังหวัด
นอกจากนี้ ครม.อนุมัติงบให้ ธ.ก.ส. 159 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ ที่ได้รับโควตาในฤดูการผลิต 2561/62 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ 13,557 ราย โดยจะจ่ายเงินช่วยเหลือในอัตรา 70% ของรายได้ที่หายไป ซึ่งคำนวณจากโควตาการผลิตใบยาที่ลดลง