บอร์ดกสทช.ไฟเขียวร่างประกาศหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 700 MHz พร้อมมาตรการเยียวยาทีวีดิจิทัล ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ก.พ.นี้
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงผลการประชุมบอร์ด กสทช.นัดพิเศษ ว่า บอร์ดกสทช.มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz แล้ว
ทั้งนี้ จะมีการนำร่างประกาศฉบับดังกล่าวขึ้นเว็บไซด์สำนักงานกสทช. ภายในวันที่ 18 ม.ค.นี้ และคาดว่าจะเปิดเวทีประชาพิจารณ์และรับฟังความเห็นสาธารณะได้ภายในเดือนก.พ.2562 ก่อนจะเริ่มกระบวนการเชิญชวนเอกชนที่สนใจและประมูลคลื่น 700 MHz ภายในเดือนเม.ย.-พ.ค.ปีนี้
สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นฯ แบ่งเป็นส่วนหลัก 2 ประเด็น ได้แก่ 1.มาตรการเยียวผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล อาทิ การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับอำนาจของกสทช.ในเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ขณะเดียวกัน บอร์ดกสทช.ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายนำรายละเอียดของมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไปพิจารณาแบบคู่ขนานกันไปด้วย
ส่วนแนวการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลตามร่างประกาศฯ คือ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไม่ต้องจ่ายเงินค่างวดประมูล 2 งวดสุดท้ายที่เหลืออยู่ รวมถึงค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน (MUX) และค่าใช้จ่ายในการสัญญาณผ่านดาวเทียมตามประกาศ Must Carry พร้อมทั้งจะมีการเยียวยาผู้ประกอบการ MUX ในการย้ายคลื่น เป็นต้น ซึ่งเท่ากับว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นวงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท อีกทั้งจะเปิดทางให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตได้ด้วย
และ2.การเปิดประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz ซึ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นในหลายประเด็น เช่น อายุของใบอนุญาตที่กำหนดไว้ 20 ปี จำนวนใบอนุญาตที่นำมาเปิดประมูล 7 ใบอนุญาต รวม 35 MHz ประเด็นการจ่ายเงินค่าประมูลในช่วง 10 ปี รวม 9 งวด คือ ปีแรก 20% ของค่าประมูล ปีที่ 2 ไม่ต้องจ่าย ปีที่ 3-10 จ่ายปีละ 10% ของเงินค่าประมูล ประเด็นการขยายเครือข่ายให้คลุมคลุมต้องทำภายในกี่ปี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของราคาเริ่มต้นใบอนุญาตนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการสรุปตัวเลข โดยสำนักงาน กสทช.จะต้องเร่งกำหนดราคาเริ่มต้นให้ทันก่อนเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น