กรมบัญชีกลางเผยผู้มีรายได้น้อย 2.53 ล้านคน ได้รับแจกบัตรสวัสดิการฯแล้ว พร้อมเปิดให้ใช้สิทธิกดเงินได้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2562 เป็นต้นไป เผยคนอายุ 65 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้เงินสูงสุด 4 ต่อ “เงินปีใหม่ 500 บาท-ค่าเดินทางหาหมอ 1,000 บาท-ค่าเช่าบ้าน 400 บาท-เบี้ยยังชีพเพิ่ม 100 บาท”
เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า การแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ จำนวน 3,042,735 ราย ผ่านทางทีมไทยนิยม ยั่งยืน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2561 จนถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2561 โดยผู้มีสิทธิทั้ง 77 จังหวัด ได้มารับบัตรฯ แล้วจำนวน 2,538,076 ราย คิดเป็นร้อยละ 83.41 ซึ่งผู้มีสิทธิกลุ่มนี้ จะสามารถใช้บัตรฯ ได้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป
ส่วนผู้ที่ยังไม่มารับบัตรฯ ในช่วงวันดังกล่าวยังคงรับบัตรจากทีมไทยนิยมฯ ได้ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2562 แต่หากไปรับบัตรฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ คือ ตั้งแต่วันที่ 1-28 กุมภาพันธ์ 2562 สำหรับผู้มีสิทธิในต่างจังหวัดต้องไปรับ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือผู้มีสิทธิในกรุงเทพมหานครต้องไปรับ ณ สำนักงานเขต
นอกจากนี้ กรณีไปรับบัตรตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป ผู้มีสิทธิจะต้องเดินทางไปรับบัตรฯ ณ สำนักงานคลังจังหวัด หรือ กรุงเทพมหานคร ตามที่แจ้งที่อยู่ปัจจุบันไว้ โดยผู้มีสิทธิสามารถมารับได้จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2562 หากไม่มารับภายในวันดังกล่าวจะถือว่าสละสิทธิ์
“ผู้มีสิทธิที่มารับบัตรฯ หลังจากวันที่ 28 ธันวาคม 2561 จะสามารถ ใช้สิทธิได้หลังจากรับบัตรไปแล้ว 2 วัน เนื่องจากต้องดำเนินการเปิดสิทธิของบัตร (Activate) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิแอบอ้างนำเงินในบัตรไปใช้”น.ส.สุทธิรัตน์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการฯดังกล่าว จะสามารถใช้สิทธิได้ 2 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1 สิทธิในกระเป๋าวงเงิน ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ได้แก่ วงเงินค่าโดยสารรถ ขสมก./รถไฟฟ้า จะได้รับ 500 บาท/คน/เดือน วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. จะได้รับ 500 บาท/คน/เดือน และวงเงินค่าโดยสารรถไฟ จะได้รับ 500 บาท/คน/เดือน
ส่วนค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ได้แก่ วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านธงฟ้าประชารัฐ สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับวงเงิน 300 บาท/คน/เดือน ส่วนผู้มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับวงเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน และวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด จะได้รับ 45 บาท/คน/3 เดือน
ประเภทที่ 2 สิทธิในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ประกอบด้วย เงินจากมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปี คนละ 500 บาท (จ่ายเพียงครั้งเดียว) จะโอนเงินเข้าบัตรให้ในวันที่ 1 มกราคม 2562
เงินจากมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ผู้มีสิทธิจะได้รับช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน ค่าน้ำประปา ไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน สำหรับการใช้จ่ายตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 – กันยายน 2562 โดยจะโอนเงินเข้าบัตรตามจำนวนที่ได้รับแจ้งจากการไฟฟ้าและการประปา ทุกวันที่ 18 ของเดือน เริ่มจ่ายเดือนแรกวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562
เงินจากมาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีภาระค่าเช่าบ้านและไม่มีที่อยู่อาศัย จะได้รับเงินช่วยเหลือ จำนวน 400 บาท/คน/เดือน หากผู้มีสิทธิรายใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในระหว่างเดือนธันวาคม 2561 จนถึงเดือนกันยายน 2562 จะได้รับเงินในเดือนเกิดเป็นครั้งแรกจนสิ้นสุดมาตรการ โดยจะโอนเงินเข้าบัตรให้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นเดือนแรก จากนั้นจะโอนเงินช่วยเหลือให้ทุกวันที่ 12 ของเดือนเกิด
และเงินจากมาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพ สำหรับผู้มีสิทธิที่มีอายุครบ 65 ปีขึ้นไป ระหว่างเดือนธันวาคม 2561 – กันยายน 2562 ได้รับเงินคนละ 1,000 บาท (จ่ายเพียงครั้งเดียว) โดยจะโอนเงินเข้าบัตรให้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นเดือนแรก จากนั้นจะโอนเงินให้กับผู้มีสิทธิที่มีอายุครบ 65 ปี ทุกวันที่ 21 ของเดือนเกิด
นอกจากนี้ ผู้มีสิทธิที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินสงเคราะห์เพื่อยังชีพ จากบัญชีกองทุนผู้สูงอายุสำหรับภาษีสรรพสามิตและสุรายาสูบ โดยผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ได้รับเงินสงเคราะห์ฯ 100 บาท/คน/เดือน และผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทต่อปี ได้รับเงินสงเคราะห์ฯ 50 บาท/คน/เดือน ซึ่งจะเริ่มโอนเงินเข้าบัตรให้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นเดือนแรก จากนั้นจะโอนให้ทุกวันที่ 15 ของเดือน สำหรับผู้สูงอายุที่อายุยังไม่ครบ 60 ปี จะได้รับเงินในวันที่ 15 ของเดือนเกิด จนถึงเดือนมีนาคม 2562
“การโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่จำกัดระยะเวลาในการใช้จ่าย และไม่มีการดึงเงินกลับในช่วงปลายเดือน ซึ่งจะแตกต่างจากกระเป๋าวงเงินที่ใช้ในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเดือนละ 200/300 บาท หรือค่าเดินทาง 500 บาท โดยต้องใช้ภายในเดือน ดังนั้น ผู้มีสิทธิไม่จำเป็นต้องรีบถอนเงินทันที โดยสามารถเลือกที่จะใช้จ่ายเงินดังกล่าวในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ ร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือร้านค้าเอกชนอื่นที่รับชำระเงินด้วยบัตรฯ และมีสิทธิได้รับเงินชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มคืน เพื่อนำไปใช้จ่ายต่อไปได้”น.ส.สุทธิรัตน์ย้ำ
น.ส.สุทธิรัตน์ ระบุว่า จากข้อมูลของคลังจังหวัดทั่วประเทศและกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 21 – 28 ธันวาคม 2561 พบว่า จังหวัดที่มีการแจกบัตรฯ สูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ จังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดพะเยา จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดลำปาง จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดสุโขทัย คิดเป็นร้อยละ 96.72, 95.82, 95.05, 94.90, 94.12, 93.83, 93.42, 93.28, 93.15 และ 93.14 ตามลำดับ
โดยกรุงเทพมหานครแจกบัตรฯ แล้วร้อยละ 73.50 ส่วนจังหวัดที่ยังมีการแจกบัตรฯ ได้น้อยที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ ศรีสะเกษ สุราษฎร์ธานี มหาสารคาม เลย กระบี่ ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน พังงา ชัยภูมิ และหนองบัวลำภู ซึ่งกรมบัญชีกลางได้แจ้งให้คลังจังหวัดเร่งดำเนินการร่วมกับทีมไทยนิยมฯ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิรีบมารับบัตรฯในพื้นที่ เพราะหากไปรับบัตรฯหลังวันที่กำหนดไว้ก็จะต้องเดินทางไปรับบัตรฯ ยังที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานคลังจังหวัด
“ขอให้ผู้ที่มีบัตรฯ อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพที่แอบอ้างว่าการถอนเงินสดออกมาจาก ตู้ ATM เป็นเรื่องยุ่งยาก และจะช่วยถอนเงินสดให้โดยคิดค่าบริการเป็นรายคน เพราะผู้มีสิทธิสามารถถอนเงินได้ด้วยตนเองเพียงไม่กี่ขั้นตอนเท่านั้น หากพบเห็นมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสกับเรื่องนี้สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่สำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัด หรือติดต่อแจ้งมาที่ Call Center บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2109 2345 หรือ Call Center กรมบัญชีกลาง 0 2270 6400 ซึ่งจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป”น.ส.สุทธิรัตน์กล่าว