ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่ม 2.5% หลังกำลังผลิตของซาอุฯลดลง 5 แสนบาร์เรล/วันในเดือนธ.ค. ขณะที่นักลงทุนจับตาความต้องการน้ำมันลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่ค่อยสดใส
เมื่อคืนวันพุธ (2 ม.ค.) สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดในแดนบวก โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ปิดที่ 46.54 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.13 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 2.5% และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ส่งมอบเดือนมี.ค. ปิดที่ 54.91 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.11 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 2.1%
สัญญาราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังมีรายงานว่า การส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียลดลง 5 แสนบาร์เรล/วัน สู่ระดับ 7.253 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนธ.ค. และการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียไปยังสหรัฐลดลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด
สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับปัจจัยหนุนจากการที่สมาชิก 15 ชาติของกลุ่มโอเปกและพันธมิตรนอกกลุ่มโอเปกจะเริ่มลดกำลังการผลิตน้ำมันรวม 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือนม.ค.นี้ หรือคิดเป็น 1% ของปริมาณการใช้น้ำมันทั่วโลก
นอกจากนี้ นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบ ซึ่งสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) มีกำหนดเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ เวลา 20.30 น.ตามเวลาไทย
บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำวันที่ 3 ม.ค. ว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI และเบรนท์ปรับตัวขึ้นกว่า 2% โดยได้รับแรงหนุนจากตลาดหุ้นสหรัฐ ที่สามารถปิดในแดนบวกได้ แม้เปิดทำการซื้อขายติดลบกว่า 267 จุด
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงมีความกังวลต่ออุปสงค์น้ำมันดิบที่มีแนวโน้มอ่อนแอจากสภาวะเศรษฐกิจที่ดูไม่สด
โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ยังคงมีทิศทางอ่อนแอลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อหรือ Purchasing Manager Index (PMI) ของจีนในเดือน ธ.ค.2561 อยู่ที่ระดับ 49.4 ต่ำกว่าระดับ 50.0 ซึ่งนับเป็นจุดแบ่งระหว่างการขยายตัวและหดตัวทางเศรษฐกิจ ดัชนีดังกล่าวหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ค.2559 หรือคิดเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี
ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ของยูโรโซนปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 51.4 ในเดือน ธ.ค. 61 นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ.2559
นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันดิบโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ แตะระดับ11.6 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2561 ส่งผลให้สหรัฐ กลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดในโลกแทนซาอุดิอาระเบียหรือรัสเซีย ในขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียแตะระดับเฉลี่ย 11.16 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2561
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงมีมุมมองที่สดใสต่อสมดุลตลาดน้ำมันดิบในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2562 หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบโอเปกและนอกโอเปกสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้ในการประชุมเดือน ธ.ค.2561
บมจ.ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบ WTI จะเคลื่อนไหวในกรอบ 44-48 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-56 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
สำหรับปัจจัยที่น่าจับตามอง ได้แก่ นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง จากแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ,การติดตามการกลับมาดำเนินการของแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดของลิเบีย
และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังโรงกลั่นดำเนินการด้วยอัตราการกลั่นในระดับสูง ประกอบกับอุปทานน้ำมันดีเซลและอากาศยานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว