ราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วง 0.6% ปิดที่ 45.59 เหรียญสหรัฐ ต่ำสุดนับจากไตรมาส 3/60 นักลงทุนกังวลอุปทานล้นตลาด เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
เมื่อวันศุกร์ (21 ธ.ค.) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์ก ปิดลดลง 0.6% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน โดยตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงไปแล้วกว่า 11% ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด และแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันที่อ่อนแอ
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ปิดที่ 45.59 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 0.29 เหรียญสหรัฐ หรือลดลง 0.6% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2560 และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.พ. ปิดที่ 53.82 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 0.53 เหรียญสหรัฐ หรือลดลง 1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. 2560
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ ปิดที่ 53.39 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 0.87 เหรียญสหรัฐ หรือลดลง 1.6%
บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำวันที่ 24 ธ.ค. ว่า ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2560 จากความกังวลด้านภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด อีกทั้งนักลงทุนยังซื้อขายด้วยความระมัดระวังก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลวันหยุดในสัปดาห์หน้า
ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลัง Baker Hughes รายงานตัวเลขแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐ ประจำสัปดาห์ ณ วันที่ 21 ธ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10 แท่น แตะระดับ 883 แท่น ซึ่งถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
ปัจจุบันสหรัฐ ผลิตน้ำมันดิบราว 11.6 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งยังส่งผลให้สหรัฐ เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้ารัสเซียและซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีการผลิตน้ำมันราว 11.4 และ 11.1 ล้านบาร์เรล/วัน ตามลำดับ
การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบในระยะนี้
นายโมฮัมหมัด บาร์คินโด เลขาธิการกลุ่มโอเปก กล่าวว่า โอเปกเตรียมที่จะเปิดเผยรายละเอียดของโควต้าในการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตลาดว่ากลุ่มโอเปกจะมุ่งมั่นในการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาสมดุลของตลาดน้ำมันดิบ
บมจ.ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบ WTI จะเคลื่อนไหวในกรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเคลื่อนไหวในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
สำหรับปัจจัยที่น่าจับตามอง ได้แก่ นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง จากแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ,อุปทานน้ำมันดิบโลกคาดปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากคาดว่าแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดของลิเบียจะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง
และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังโรงกลั่นดำเนินการด้วยอัตราการกลั่นที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับอุปทานน้ำมันดีเซลและอากาศยานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว