หลบกระแสคลิปร้อน ส่องแนวคิด “วัฒนา เมืองสุข” หัวหอกเพื่อไทย “ปฏิรูปกองทัพ”

เป็นบุคคลที่อยู่ในกระแสร้อนๆยามนี้ สำหรับ “เสี่ยไก่-วัฒนา เมืองสุข” แกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งไปละม้ายคล้ายคนที่ปรากฎกายในคลิปหลุด “เรื่องของคนโสดสองคน” ที่กระจายว่อนอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย โดยเจ้าตัวบอกว่า อาชญากรรมครั้งนี้ เดาไม่ยากว่าเป็นฝีมือใคร

วันนี้ วัฒนา เป็นนักการเมืองที่มีบทบาทภายในพรรคเพื่อไทย และล่าสุดได้รับมอบหมายจากพรรคให้รับผิดชอบเกี่ยวการจัดทำนโยบายเรื่องปฏิรูปกองทัพ ไปฟังแนวคิดปฏิรูปกองทัพของ วัฒนา ซึ่งให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว “ไบรท์ทีวีออนไลน์” เมื่อเร็วๆนี้

@หลักการและแนวคิดในการปฏิรูปกองทัพเป็นอย่างไร

วัฒนา : ความจำเป็นของการมีกองทัพ หรือหน้าที่หลักของกองทัพ มี 2 อย่าง คือ 1.เตรียมกำลัง และ2.ใช้กำลัง

ถ้ามองภาพให้ชัด คือ กองทัพเปรียบเหมือนสถานีดับเพลิง เวลาบ้านเมืองปกติ คุณก็ต้องเตรียมกำลัง เตรียมซ้อมดับไฟ และเมื่อเกิดภัยคุกคามต่อประเทศ ต่อราชอาณาจักร คุณก็ใช้กำลังป้องกันภัยคุกคามนั้น หน้าที่มีแค่นี้ เพราะถ้าเป็นภัยภายใน มันมีหน่วยงานภายในรับผิดชอบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และตำรวจสันติบาล

แต่วันนี้กองทัพถูกคนกลุ่มหนึ่งลากเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง และทุกครั้งของการปฏิวัติ ทุกครั้งของการยึดอำนาจ กองทัพจะถูกขยายอำนาจออกไป เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในกองทัพไม่มีใครเห็นดีเห็นงาม ในการเอากองทัพมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ

@ตัวอย่างเป็นรูปธรรมของการขยายอำนาจของกองทัพ

วัฒนา : หลังการรัฐประหารปี 2549 มีการออกพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายเหล่านี้ มี 2 อย่าง

อย่างแรก คือ การแต่งตั้งโยกย้ายทหารระดับนายพล ต้องผ่านคน 6 คน เรียกว่า สภากลาโหม ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) , ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) , ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) , ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ,ปลัดกระทรวงกลาโหม และรมว.กลาโหม ซึ่งสภากลาโหมมีคนจากรัฐบาลเพียงคนเดียว คือ รมว.กลาโหม เท่ากับรัฐบาลไม่ได้มีอำนาจเหนือกองทัพ จะคุมอะไรไม่ได้เลย ซึ่งโดยหลักการแล้ว กองทัพต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน

วัฒนา เมืองสุข

เวลาจะแต่งตั้งทหารระดับนายพล ก็ต้องผ่านสภากลาโหม ซึ่งมี 6 คน นั่งตัดสินใจ แต่ 5 คน เป็นคนของกองทัพทั้งสิ้น คนที่ 6 เป็นรมว.กลาโหม โหวตเมื่อไหร่ก็แพ้เมื่อนั้น ทำให้รัฐบาลพลเรือนไม่สั่งการอะไรกองทัพไม่ได้ ซึ่งอันนี้ต้องมีการแก้ไข เพราะกระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานในสังกัดของรัฐบาล รัฐบาลต้องควบคุมได้

อย่างที่สอง คือ มีกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งได้ขยายอำนาจของกองทัพ จากการป้องกันภัยคุกคาม ไปยังเรื่องการพัฒนาด้วย ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ และซ้ำซ้อน ถ้านึกภาพกองทัพ และหน่วยงานอื่นๆของรัฐ เป็นอวัยวะในร่างกาย แต่ละส่วนมีหน้าที่ของมันอยู่แล้ว ถ้ามันไปทำงานเกินเลยหน้าที่ก็มะเร็ง

วันนี้กองทัพมีหลายอย่างที่ปรับปรุง และภาระหน้าที่ของกองทัพเมื่อเทียบกับปริมาณกำลังพล มันมากเกินไป อย่างตอนนี้กองทัพมีกำลังพลประจำการ 3.4 แสนกว่าคน และมีทหารเกณฑ์อีก 1 แสนกว่า รวมแล้ว 4.4 แสน เทียบกับกำลังพลของมหาอำนาจ อย่างอังกฤษมี 1.5 แสนคน ฝรั่งเศสมี 2 แสนคน สองประเทศรวมกันยังน้อยกว่าทหารไทยเลย ซึ่งมันผิดวัตถุประสงค์ ในเมื่อหน้าที่ของกองทุนคือป้องกันภัยคุกคาม ไม่ใช่รุกราน ขณะเดียวกัน กองทัพที่ใหญ่ยังเป็นภาระงบประมาณ

อีกสาเหตุที่ทำให้กองทัพไทยใหญ่เกินไป เพราะเราไปเอาโครงสร้างของสหรัฐมาใช้ กองทัพสหรัฐเป็นกองทัพที่ตั้งมาเพื่อรบนอกประเทศ จึงต้องมีแม่ทัพน้อย เพราะเวลาไปรบนอกประเทศ จะต้องมีหน่วยบัญชาการไปด้วย จะต้องมีหน่วยบัญชาการช่วยรบ แต่ของไทย เรามีกองบัญชาการช่วยรบอยู่ทุกภาค มีกองทัพน้อย 4 ภาค มีหน่วยสนับสนุนการรบ ซึ่งมันไม่ใช่หน้าที่

หรืออย่าง กองบัญชาการกองทัพไทย วันนี้กลายเป็นแหล่งระบายพล ใครที่อกหักจากไลน์หลักก็มาอยู่ตรงนี้ ที่สำคัญบางองค์กรที่ภารกิจเดิมหมดไปแล้ว แต่ยังขยายมันออกไปอีก เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มีขึ้นมาต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ วันนี้ พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์เลิกแต่ปี 2527 แต่ กอ.รมน.ยังไม่เลิก

และคุณประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.) ก็ไปขยาย กอ.รมน.ไปทุกจังหวัดอีก เป็นแหล่งที่เอานายพล นายทหารทั้งหลายมากินเงินเดือนที่ กอ.รมน. มาเอาตำแหน่งที่นี่ มาเอางบประมาณที่นี่ มันเลยบาน และพอกองทัพมันใหญ่ และว่างมาก มันก็เลยมาป่วนการเมือง

@แนวคิดปฏิรูปกองทัพของพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างไร

วัฒนา : การปฏิรูปกองทัพ อย่างแรกเลย ต้องลดขนาดกองทัพลงให้เหมาะสมกับภารกิจ เช่น ในเมื่อไม่มีการสู้รบแล้ว จะมีกองบัญชาการช่วยรบไว้ทำไม ส่วนการยุบเลิกตำแหน่งนายพลก็ต้องมีแผน คือ ถ้าตำแหน่งใดเกษียณอายุไปแล้วก็เลิกไป หรืออย่างทหารเกณฑ์ที่เกณฑ์มาปีละ 1 แสนคน จะเกณฑ์มาทำไม ในเมืองการยุทธสมัยใหม่ ไม่ใช่การรบแบบเดิมที่เกณฑ์คนเป็นล้านคนไปรบ แล้วจะมีกำลังพล 4-5 แสนคนไปทำไม และเกณฑ์ทหารเกณฑ์ 1 แสนคนมาทำอะไร

ความจำเป็นของกองทัพ คือ การข่าวที่แม่นยำ และเป็น Smart Troop คือ ทหารต้องฉลาด เราต้องปรับกองทัพไปสู่ความทันสมัย มีขนาดที่เหมาะสม ทหารเกณฑ์ต้องเลิก เพราะถ้าเกณฑ์มาจะได้ทหารฉลาดได้อย่างไร ถ้าได้คนที่สมัครใจเข้ามาจะได้คนที่มีประสิทธิภาพ การไปบังคับคนเข้ามา ได้ทหารอย่างที่เกณฑ์กันมา ก็ได้แต่คนที่เอาไปตัดหญ้า เลี้ยงไก่ มันเปลืองงบประมาณ

ดังนั้น กองทัพไทย 4 แสน ควรลดได้ครึ่งหนึ่ง ทหารเกณฑ์ 1 แสน เราจะลดลงได้ครึ่งหนึ่ง ผมเชื่อว่ากำลังพลกองทัพไม่เกิน 2 แสนก็อยู่ได้

อย่างที่สอง ลดภารกิจเหลือแค่ป้องกันประเทศ และจะให้ทหารมาเพ่นพ่านในกรุงเทพไม่ได้แล้ว ให้เอาทหารไปที่อยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ ไม่ใช่มาอยู่ในกรุงเทพ เพราะคุณจะมาป้องกันอะไรล่ะ ส่วนทหารรักษาพระองค์อันนั้นเราจะไม่ยุ่ง ซึ่งการลดภารกิจอันนี้ต้องไปแก้กฎหมาย เช่น หน้าที่อะไรที่ไม่ใช่ก็ยกเลิก อย่างการปราบจลาจลคนตีกัน อันนี้ควรจะเลิก เพราะมีหน่วยงานอยู่แล้ว อย่าไปทำงานซ้ำซ้อน

เมื่อลดภารกิจกองทัพเหลือแค่การป้องกันประเทศ ผลก็คือจะช่วยลดภาระงบประมาณ ลดงบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งเราไม่ห้ามที่จะซื้ออาวุธ แต่ซื้ออาวุธต้องสอดคล้องกับภารกิจ หากภารกิจของกองทัพ คือ ป้องกันประเทศ อาวุธเชิงรุกราน และอาวุธเชิงยุทธการ อย่างรถถัง เรือดำน้ำ จะซื้อมาทำไม เพราะไม่ตอบโจทย์การรบสมัยใหม่ เหมือนกับคุณซื้ออาวุธมาป้องกันตัวแค่ 9 มม. ก็พอแล้ว ไม่ใช่ซื้อปืนไรเฟิล และหากเทียบกับแล้วเรือดำน้ำที่ซื้อมา ขอโทษนะ กล้องวงจรปิดมีประโยชน์มากกว่า

อย่างที่สาม กองทัพต้องทันสมัย มีการข่าวที่ทันสมัย มีนายทหารที่ฉลาด ไม่ใช่ใครยิงเก่งกว่ากัน รบได้นานกว่ากันแล้ว มันไม่ใช่ อย่างทหารเกณฑ์ คุณเห็นโรงเรียนพลตำรวจไหม คนสมัครเป็นแสน เพราะมีระบบความที่จะสร้างก้าวหน้าในอาชีพให้เขา แต่คนไม่อยากเป็นทหารเกณฑ์ เพราะไปเอาคนมาปฏิบัติเหมือนไม่ใช่คน และถ้าทำได้ทั้ง 3 อย่างนี้ ทหารจะเป็นทหารของประชาชน มีแต่คนรัก และกำลังพลจะมีสวัสดิการดีขึ้น เพราะกำลังพลลดลง

@หากจะปฏิรูปกองทัพจะจัดการกับกระแสต้านอย่างไร

วัฒนา : วันนี้ประชาชนเห็นแล้ว ว่ามีคนหยิบมือเดียวใช้กองทัพเป็นเครื่องมือทางการเมือง เอากองทัพมายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ทำให้กองทัพเสียหาย แล้วก็มีคนหยิบมือเดียวที่ได้ดิบได้ดีเพราะการเมือง ในขณะที่นายทหารส่วนใหญ่ก็อยู่ไนไลน์ทำหน้าที่ของเขา ถามว่าทหารอยากมายุ่งการเมืองเหรอ คนด่าทหาร ประชาชนด่ากองทัพ ด่าเผด็จการที่ทำให้บ้านเมืองที่เสียหาย ทำให้ทหารเป็นภาพลบ ทหารไม่อยากมายุ่งการเมือง แต่ที่ต้องทำ เพราะเป็นคำสั่ง คุณคิดว่าเขาอยากทำ

และเรื่องนี้ก็ไม่จำเป็นต้องไปเขียนรัฐธรรมห้ามไม่ให้กองทัพยุ่งกับการเมือง แค่แก้กฎหมายบางฉบับเท่านั้น เพราะกฎหมายพวกนี้ ถ้าเปรียบไปก็เหมือนกันพวกนักเลงไปเรียกเก็บค่าคุ้มครองกับชาวบ้าน จะยกเลิกกฎหมายเกณฑ์ทหารทำเลย แค่พรรคเพื่อไทยมี 251 เสียง ถ้าเราชนะเลือกตั้ง เราปฏิรูปแน่

@ทำไมตอนพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลปี 2554 จึงไม่ปฏิรูปกองทัพ

วัฒนา :  ที่เราไม่แตะกองทัพตอนนั้น เพราะตอนที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งปี 2554 กองทัพไม่ได้แสดงอะไรให้เห็นว่าเป็นอุปสรรคอย่างเป็นรูปธรรม อย่างการยึดอำนาจสมัยพล.อ.สนธิ (บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) อยู่ได้แค่ปีเดียวก็คืนอำนาจ แต่คราวนี้ยึดไม่คืน ถ่วงเวลา ยืด อยู่นาน แต่ข้อดี คือ ทำให้ประชาชนเข็ดขี้อ่อนขี้แก่กับทหาร จากนี้ผมว่าเวลาเกิดอะไรขึ้น คงไม่มีใครไปเป่านกหวีดเรียกทหารอีกแล้ว เข็ดจนตาย เพราะเห็นแล้วว่าเผด็จการก็ดี อำนาจนิยมก็ดี มันทำให้ประเทศล่มสลาย

ผมมีหน้าที่รับผิดชอบนโยบายปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้กองทัพ เป็นกองทัพของประชาชน ไม่ให้คนหยิบมือเดียว เอากองทัพไปเป็นเครื่องมือ ซึ่งวันนี้มันเกิดขึ้นแล้ว และผมไม่ได้ท้ารบอะไรกับกองทัพ แต่ผมจะเอากองทัพไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม ทำหน้าที่ของตัวเอง

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า