เปิดเงื่อนไข กฎเหล็กคุ้มครองผู้โดยสารฉบับใหม่ หากเครื่องบินเลทเกิน 2 ชั่วโมง สายการบินต้องดูแลเรื่องอาหาร ที่พัก พร้อมจ่ายเงินชดเชยภายใน 14 วัน
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 68 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ได้จัดการประชุมเตรียมความพร้อมสำหรับการบังคับใช้ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 101 ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในเที่ยวบินแบบประจำทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ นายศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการ CAAT สายงานพัฒนาเศรษฐกิจการบิน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายอนันต์ คณาวิวัฒน์ไชย ผู้จัดการฝ่ายกำกับดูแลทางเศรษฐกิจ และพนักงานกองคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการ และกองกฎหมายเศรษฐกิจการบิน เข้าร่วมให้ข้อมูลและคำตอบในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบข้อซักถามจากผู้เข้าร่วมประชุมอย่างครบถ้วน
สำหรับการประชุมครั้งนี้มีผู้แทนจากสายการบินของไทยและสายการบินต่างประเทศเข้าร่วมรับฟังและสอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อบังคับของ กบร. ฉบับที่ 101 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างความพร้อมให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารอย่างมีประสิทธิภาพ
อนึ่ง ข้อบังคับของ กบร. ฉบับที่ 101 มีการกำหนดแนวทางและเพิ่มเติมความคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร ดังนี้
- การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในเส้นทางบินระหว่างประเทศ: สายการบินจะต้องให้การดูแลผู้โดยสาร (Right to care) และการชำระค่าชดเชยแก่ผู้โดยสารในกรณีเที่ยวบินล่าช้า การยกเลิกเที่ยวบินและการปฏิเสธการรับขน ตามที่กฎหมายกำหนด
- กรณีเที่ยวบินล่าช้าขณะอากาศยานยังอยู่บนภาคพื้นและผู้โดยสารอยู่ในอากาศยาน (Tarmac Delay): ผู้โดยสารจะได้รับการดูแลจากสายการบิน รวมถึงการให้บริการพื้นฐานและสิทธิในการลงจากเครื่อง
- การปฏิเสธการรับขน (Overbooking): ในกรณีที่สายการบินขายบัตรโดยสารเกินจำนวนที่นั่ง ผู้โดยสารจะได้รับการคุ้มครองและสามารถขอชดเชยได้ตามที่กฎหมายกำหนด
- การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทาง: สายการบินต้องแจ้งข้อมูลการเดินทางที่ชัดเจนให้แก่ผู้โดยสาร ทั้งก่อนและขณะซื้อบัตรโดยสาร เพื่อให้ผู้โดยสารทราบสิทธิของตน
- การห้ามเพิ่มบริการเสริม (Opt-in): สายการบินจะไม่สามารถเพิ่มบริการเสริมที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมโดยอัตโนมัติ หากไม่ได้รับการยินยอมจากผู้โดยสารก่อน
- การลดชั้นบริการ: สายการบินต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดหากมีการลดชั้นบริการแก่ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดพลาดในการให้บริการ
ข้อบังคับของ กบร. ฉบับที่ 101 จะช่วยยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารให้ดียิ่งขึ้น โดยมีบทลงโทษสำหรับสายการบินที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ นอกจากนี้ CAAT ยังมีการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้โดยสารจะได้รับการดูแลและคุ้มครองตามสิทธิที่กำหนด
ข้อบังคับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันนี้เป็นต้นไป เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและความพึงพอใจให้กับผู้โดยสารในทุกการเดินทาง ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารได้ที่
ในส่วนของรายละเอียดของการดูแลผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศ
- กรณีล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง ต้องจัดเตรียมอาหาร เครื่องดื่ม หรือ คูปองแลกซื้ออาหารและเครื่องดื่ม อำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสารให้ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- กรณีล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง จัดอาหาร เครื่องดื่ม หรือ คูปองแลกซื้ออาหารและเครื่องดื่มอำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสารให้ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จัดที่พัก และการรับส่งหากต้องพักค้างคืน
- หากผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทางต่อ สายการบินต้องเสนอทางเลือกในการรับเงินค่าโดยสารคืน หรือทางเลือกอื่นทดแทนทันที ขณะที่ต้องชดเชยเป็นเงินสด 1,500 บาท หรือ เสนอทางเลือกอื่นที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า เช่น วงเงินเดินทาง บัตรกำนัล หรือไมล์สะสม ภายใน 14 วัน
- กรณีล่าช้าเกิน 10 ชั่วโมง จัดอาหาร เครื่องดื่ม หรือ คูปองแลกซื้ออาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์สื่อสารให้ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จัดที่พักและการรับส่งหากต้องพักค้างคืน
- หากผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทางต่อ สายการบินต้องเสนอทางเลือกในการรับเงินค่าโดยสารคืนหรือทางเลือกอื่นทดแทน หรือเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน หรือจัดหาการขนส่งทางอื่นที่เหมาะสม รับค่าชดเชยเป็นเงินสดภายใน 14 วัน หรือ รับค่าชดเชยเป็นวงเงินเดินทาง บัตรกำนัล ไมล์สะสม หรือสิ่งอื่นทดแทนที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าเงินสด ภายใน 14 วัน ดังนี้
- 2,000 บาท สำหรับเที่ยวบินที่มีระยะทางไม่เกิน 1,500 กิโลเมตร
- 3,500 บาท สำหรับเที่ยวบินที่มีระยะทางไม่เกิน 1,500-3,500 กิโลเมตร
- 4,500 บาท สำหรับเที่ยวบินที่มีระยะทางเกิน 3,500 กิโลเมตร
ด้านรายละเอียดของการดูแลผู้โดยสารเที่ยวบินในประเทศ
อย่างไรก็ตาม เมื่อล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมงต้องจัดอาหาร เครื่องดื่ม หรือ คูปองแลกซื้ออาหารและเครื่องดื่มอุปกรณ์สื่อสารให้ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- หากเกิน 5 ชั่วโมง ต้องจัดที่พักและการรับส่งหากต้องพักค้างคืน หากผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทางต่อ สายการบินต้องเสนอทางเลือกในการรับเงินค่าโดยสารคืนหรือทางเลือกอื่นทดแทน หรือเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน หรือจัดหาการขนส่งทางอื่นที่เหมาะสมพร้อมจ่ายชดเชยเป็นเงินสด 1,200 บาท โดยสายการบินสามารถเสนอการชดเชยในรูปแบบอื่นทดแทนได้เช่นกัน แต่จะไม่มีการชดเชยหากเกิดจากเหตุสุดวิสัย