รายงานพิเศษ : วัดใจ “ประชาธิปัตย” เดิมพันอนาคต 73 ปีบน “ปากเหว”
ท่ามกลางภาวะฝุ่นตลบต่อการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลของ 2 ขั้วอำนาจใหญ่ “เพื่อไทย-พลังประชารัฐ” อีกด้านหนึ่งยังเห็นแสงสปอร์ตไลท์ยังจับจ้องไปที่ตัวแปรสำคัญ “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย” โดยเฉพาะท่าที่ “ประชาธิปัตย์” ภายหลังการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่วันที่ 15 พ.ค. เพื่อตัดสิน “จุดยืน” ทางการเมืองต่อการเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

เพราะจากตัวเลข ส.ส.ในมือ 52 เสียง จะอีกหนึ่งกำลังรบสำคัญ “ชี้ขาด” อนาคต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมมนตรี ต่อเสถียรภาพในการบริหารประเทศในระบบรัฐสภา เมื่อภาวะเสียงที่ยัง “ปริ่มน้ำ” จะสุ่มเสี่ยงให้รัฐบาลใดๆ นำไปสู่ทางตันต่อการ “ยกมื่อ” ผ่านร่างกฎหมายสำคัญๆ ได้ทุกเมื่อ
ถึงแม้กระแสข่าวหนาหูที่ว่ากันว่าประชาธิปัตย์ “ปิดดีล” ที่กระทรวงเกษตรฯ หรือกระทรวงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อย เพื่อเข้าไปแก้ปัญภาคเกษตร และสานต่อนโยบายหาเสียงที่ประกาศไว้ก่อนเลือกตั้ง แต่สถานการณ์ “ศึกใน” ที่ยังไม่นิ่งภายในพรรคจาก 2 กลุ่มใหญ่ที่ต้องการร่วมกับพลังประชารัฐ หรือรับบท “ฝ่ายค้านอิสระ” ทำให้ท่าทีของประชาธิปัตย์ยังไม่สะเด็ดน้ำมากพอที่จะประกาศได้ว่า จะยก 52 เสียงให้พลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาล จนกว่า “มติ” พรรคจะออกมาเสร็จสิ้น
เพราะคำประกาศของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ไว้ก่อนเลือกตั้งว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ยังเป็น “เงื่อนไข” ที่ผูกมัดจุดยืนของประชาธิปัตย์ต่อการร่วมรัฐบาล แต่ฝั่งกลุ่มก้อนส.ส.ที่อยู่ตรงข้าม “อภิสิทธิ์” ออกมายืนยันว่าเป็นเพียงความเห็น “ส่วนตัว” เท่านั้น ยิ่งการลาออกของอดีตหัวหน้าพรรคไปแล้ว ย่อมทำให้ “เงื่อนไข” ที่เคยประกาศไว้ตรงนี้ย่อมถูกสลายไปด้วย

ทำให้ 4 แคนดิแดทท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนใหม่ อันประกอบด้วย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “กรณ์ จาติกวณิช” รักษาการรองหัวหน้าพรรคฯ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” อดีตผู้ว่าฯกทม. และ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” อดีต รมว.ยุติธรรม จะเป็นผู้นำธงชี้ขาดจะนำ 52 เสียงกรุยทางไปสู่ตำแหน่งใดทางการเมือง แต่นายอภิรักษ์ และนายพีระพันธุ์ ประกาศแล้วว่าจะไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี หากประชาธิปัตย์ได้ร่วมรัฐบาลต่อการตัดสินใจของกรรมการบริหารพรรคครั้งนี้
เพราะไม่ใช่แค่การตัดสินใจเฉพาะหน้าของประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่หมายถึงการนำอนาคตทางการเมืองของพรรคถูกวางเป็น “เดิมพัน” ครั้งใหญ่ ยิ่งคำประกาศอุดมการณ์วันก่อตั้งพรรค 6 เม.ย.2489 ขีดเส้นใต้ไปที่ข้อ 4 ที่ระบุว่า “พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ” เป็นจุดยืนที่ผูกมัดต่อการตัดสินใจของประชาธิปัตย์อีกไม่วันข้างหน้า

หากดูตามข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ต่อการลงมติของคณะกรรมการบริหารพรรค จะได้จากคะแนนที่มาจากสัดส่วนของ ส.ส.ในพรรค 70 % ซึ่งขณะนี้ประชาธิปัตย์มี ส.ส.ทั้งหมด 52 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 33 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 19 คน ซึ่งตัวเลขส.ส.เขต 33 คนส่วนใหญ่มาจาพื้นที่ภาคใต้ ส่วน ส.ส. “ปาร์ตี้ลิส์” มาจากแกนนำพรรค อาทิ นายอภิสิทธิ์ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน โดยมีตัวเลขโหวตเตอร์ทั้งหมด 307 คนทำหน้าที่ชี้ขาดเลือกหัวหน้าพรรคในครั้งนี้
อีกด้านหนึ่งเสียงสนับสนุนประชาธิปัตย์ก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค.ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องการให้พรรค “ปลดแอก” จากดุลอำนาจ “คสช.” ไปพร้อมกับการส่ง “เพื่อไทย” หมดอนาคตทางการเมือง แต่เมื่อตัวเลข 52 เสียงไม่เพียงพอให้ประชาธิปัตย์ “ถือไพ่เหนือกว่า” บวกกับแรงเสียดทานภายในพรรคที่ยังปะทุ การตัดสินใจครั้งนี้อาจนำไปสู่ความแตกแยกร้าวลึกภายในเกินกว่าจะหาข้อยุติได้

ทว่าจากสถานการณ์สูตรใหม่ตั้งรัฐบาลที่มีชื่อ “อภิสิทธิ์” เข้ามาเป็นเงื่อนไขพัวพันในตำแหน่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการปลุกให้ “อภิสิทธิ์” และประชาธิปัตย์ มีไพ่หน้าใหญ่เป็นอำนาจ “ต่อรอง” อีกครั้ง หาก “อนาคตใหม่-ประชาธิปัตย” เปิดโต๊ะเจรจาได้สำเร็จ

ถึงนาทีนี้สถานการณ์ยังไม่มีข้อยุติต่อการ “ฟอร์มรัฐบาล” ถึงแม้สารพัดสูตรต่อการเจรจาทั้งขั้ว คสช.และฝ่ายตรงข้ามพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่นิ่งพอที่จะประกาศตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เพราะวงเจรจาภายในขั้วอำนาจพลังประชารัฐ ก็ยังเสียงแตก ต่อการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีที่มีปลายทางเป็น คสช.อยู่เหนือวงเจรจาทั้งหมด ทำให้ความไม่นิ่งยังส่งไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลต่อการเจรจาในรอบสุดท้าย จากการดึง “เสียงส.ส.” ในมือพรรคการเมืองต่างๆ ปูทางไปสู่การตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ

แต่ยกแรกของประชาธิปัตย์ต่อการเลือก “หัวหน้าพรรค” คนใหม่ไปจนถึง “มติ” พรรคที่ออกมาอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ จะมีผลต่อ “ความเป็นไป” ของพรรคที่ชื่อว่ามีอายุ 73 ปีต้องตัดสินใจอนาคตที่แขวนไว้บนปากเหว