‘ก้าวไกล’ แถลงปม ‘ช่อ พรรณิการ์’ ถูกตัดสิทธิ์ทาง การเมือง ตลอดชีวิต ตอกย้ำ! ปัญหารัฐธรรมนูญ สะท้อนเห็นความผิดปกติ
จากกรณี วันที่ 20 กันยายน 2566 มีรายงานว่า ศาลฎีกา นัดฟังคำพิพากษา คดี คมจ. 1/2565 ที่ ป.ป.ช. เป็นผู้ร้อง ยื่นขอให้วินิจฉัย กรณีกล่าวหา น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ โพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันฯ จากโพสต์ในโซเชียลมีเดียเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ดังนั้น ศาลมีคำพิพากษาว่า น.ส.พรรณิการ์ วานิช ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงตามกฎหมาย “ให้ถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งตลอดไป ไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”
ซึ่งทาง นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กกรณีที่ นางสาวพรรณิการ์ วานิช เช่นกัน โดยมีการกล่าหา พาดพิงไปถึงพรรคก้าวไกล ว่า “ผมทราบข่าวกรณี คุณช่อ พรรณิการ์ วานิช ตั้งแต่บ่ายสามแล้ว แต่จงใจยังไม่แสดงความเห็นใด ๆ เพราะอยากรอดูว่าพรรคก้าวไกลจะมีการสื่อสารแบบเป็นทางการออกมาบ้างหรือไม่ แต่จนถึงตอนนี้ ไม่มีเลย พบเห็นแค่มี สส.บางคนแสดงความไม่เห็นด้วยอยู่บ้าง แต่ไม่มีการแถลงหรือวิจารณ์ใด ๆ ออกจากพรรคก้าวไกลแม้แต่น้อย”
โดยในวันนี้ (21 ก.ย. 66) ที่รัฐสภา สส.พรรคก้าวไกล นำทีมโดย นายปิยรัฐ จงเทพ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้แถลงภึงเหตุการณณ์ดังกล่าว รายละเอียดเนื้อหาสาระของคำพิพากษาต่อกรณีนี้ มีหลายส่วนถูกตั้งคำถามโดยสังคม ไม่ว่าจะเป็นข้อสังเกตเรื่องห้วงเวลาของการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนการรับตำแหน่งทางการเมือง
นายปิยรัฐ กล่าวต่ออีกว่า ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อ สส. สว. และรัฐมนตรี มีปัญหาข้อพิพาทใดๆ ก็ตาม เรื่องจริยธรรมในตัวบทกฎหมายแล้ว ไม่ได้จบเพียงแค่องค์กรนั้น หรือคณะนั้นที่จะดำเนินการเอาผิดทางวินัยทางจริยธรรมภายในองค์กรของตนเอง แต่กลับให้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรค 3 วรรค 4 ให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระใช้ในการวินิจฉัยส่งเรื่องต่อ หรือดำเนินการวินิจฉัยเอาผิดกับนักการเมืองเหล่านั้นได้
ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหามาก มีทั้งปัญหาในเรื่องความไม่ได้สัดส่วนของความผิด การลงโทษ รวมถึงการลงโทษซ้ำซ้อน พูดง่ายๆ ว่ามีโทษทางการเมืองไปแล้ว แต่ก็ยังมีโทษตัดสิทธิ์ย้อนหลังไปอีกปัญหาอยู่ที่เราใช้มาตรฐานจริยธรรมองค์กรอิสระมาใช้กับนักการเมืองซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต่อไปนี้เราจะต้องตั้งคำถามกับองค์กรอิสระด้วยว่าในอดีตนั้นเคยผิดจริยธรรมหรือไม่ ดังนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างแท้จริง
“เพราะความผิดของคุณพรรณิการ์ ถ้าเราดูดีๆ เป็นความผิดที่เกิดขึ้นก่อนที่เขาจะดำรงตำแหน่งทางการเมือง และยังมีรายละเอียดซับซ้อนกว่านั้นมาก ผมเชื่อว่านี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เพราะไม่ได้ปราบโกงจริงๆ แต่กลับเปิดโอกาสให้มีการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลั่นแกล้งทางการเมือง รวมถึงการใช้ให้เป็นเครื่องมือในการปราบนักการเมือง ที่เขาเรียกว่านักการเมืองที่ไม่ยอมจำนน นักการเมืองที่ไม่ยอมอยู่เป็น สยบยอมอยู่ภายใต้กฎหมายนี้” นายปิยรัฐ กล่าว
ด้าน นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ระบุว่า หลักการกฎหมายไม่ควรจะมีกฎหมายลงโทษย้อนหลัง ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการไม่ได้สัดส่วนของการลงโทษและการกระทำความผิด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อดูโทษที่ได้รับเรียกได้ว่าการตัดสิทธิ์ทางการเมือง หากเราเทียบกฎหมายอาญา โทษเทียบเท่าการประหารชีวิต เป็นอัตราโทษที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายปิยบุตร ออกมาโพสต์ว่าพรรคก้าวไกล ไร้น้ำใจ ไม่แสดงท่าทีต่อกรณีคำพิพากษาของ น.ส.พรรณิการ์ และออกมาแสดงความเห็นช้าเพราะเหตุใดนั้น นายปิยรัฐ กล่าวว่า กรณีที่นายปิยะบุตรมีความเห็นนั้นเป็นคุณูปการในการตั้งคำถามกับพรรคการเมือง ต้องเรียนว่าในนามของพรรคได้มีการแถลงข่าวไปแล้วในทางสาธารณะ ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของพรรคเมื่อเช้านี้ ส่วนการแถลงนี้ไม่ได้แถลงในนามพรรค เพราะเราไม่ต้องการมองว่านี่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล อยากให้เป็นเรื่องของประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม และเป็นหน้าที่ของ สส.ทุกคนควรตั้งคำถาม เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาของนักการเมืองทุกคน รวมถึงการวางบรรทัดฐานของรัฐธรรมนูญด้วย
คำถามเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกที่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หรือการที่การกระทำเดียวกันของคุณพรรณิการ์ เคยถูกฟ้องในฐานความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) แต่ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้อง ยิ่งสะท้อนให้เห็น ‘ความผิดปกติ’ ของการพิจารณาที่อาจถูกตั้งคำถามได้ว่า ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ คุณพรรณิการ์ อย่างเพียงพอหรือไม่
ในภาพใหญ่ เหตุการณ์ของคุณพรรณิการ์ เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ตอกย้ำถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้ขยายอำนาจขององค์กรอิสระซึ่งมีที่มาที่ขาดความยึดโยงกับประชาชน แต่เปิดช่องให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างทางการเมือง โดยเฉพาะการทำลายอนาคตทางการเมืองของผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผ่านกลไกไม้บรรทัดที่ชื่อ “มาตรฐานทางจริยธรรม” ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกใช้เป็นเหตุในการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตมาแล้วอย่างน้อย 4 กรณี ที่เป็นที่รับรู้วงกว้าง คือ ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.ราชบุรี (พิพากษาเมื่อ 7 เมษายน 2565) อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต สส.มุกดาหาร (พิพากษาเมื่อ 6 มกราคม 2566) กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ (พิพากษาเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2566) และ ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ อดีต สส.กรุงเทพฯ (พิพากษาเมื่อ 3 สิงหาคม 2566)

มาตรฐานทางจริยธรรม
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 219 เป็นมาตรฐานที่ถูกกำหนดร่วมกันโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ แต่ถูกบังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด รวมถึงสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 235 กำหนดให้ ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้อง และเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยในกรณีที่เห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
กลไกนี้มีหลักการที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานประชาธิปไตยสากล เพราะนอกจากเป็นการวางกลไกที่ “ผิดฝาผิดตัว” ในการให้อำนาจองค์กรหนึ่งมากำหนดมาตรฐานจริยธรรมหรือพิพาษาเรื่องจริยธรรมขององค์กรอื่น แต่ยังเป็นการเปิดช่องให้องค์กรตุลาการใช้อำนาจในการ “ประหารชีวิต” นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ด้วยข้ออ้างเรื่อง “จริยธรรม” ที่สามารถถูกเขียนไว้อย่างกว้างและสามารถถูกตีความได้ตามดุลพินิจของตนเอง
เหตุการณ์นี้จึงยิ่งตอกย้ำความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พรรคก้าวไกลหวังว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยการปฏิรูปอำนาจและที่มาขององค์กรอิสระเป็นวาระที่ขาดหายไม่ได้ ซึ่งจำเป็นต้องรวมถึง
(1) การวางขอบเขตอำนาจให้สมเหตุสมผลและไม่เปิดช่องให้ถูกใช้ในการขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชน
(2) การปรับกระบวนการสรรหา-รับรองผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระให้ยึดโยงกับประชาชนและไม่ถูกผูกขาดไว้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมือง
(3) การสร้างกลไกในการตรวจสอบและกลไกรับผิดรับชอบขององค์กรอิสระ
ดังนั้น ไม่ว่าอาวุธเรื่อง “มาตรฐานจริยธรรม” ตามกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 จะถูกใช้กับนักการเมืองคนใดหรือจากพรรคการเมืองใด และไม่ว่าพฤติกรรมของนักการเมืองคนนั้น จะเป็นสิ่งที่ท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ทันทีที่สังคมไทยยอมรับให้การใช้อาวุธนี้กลายเป็นเรื่องปกติ นั่นเท่ากับเรายอมรับให้มีการทำลายล้างกันทางการเมืองอย่างไม่ชอบธรรม จนสุดท้าย “มาตรฐานจริยธรรม” อันเลื่อนลอย-ไร้มาตรฐานนี้ เป็นอาวุธหวนกลับมาบ่อนทำลายหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY