สว.เฉลิมชัย แนะร้อง ป.ป.ช. อัดแรง! นโยบายแจกเงินดิจิทัล ส่อแวว ผิดวินัยการคลังฯ ไม่ชัดเจนแหล่งที่มาเอางบมาจากไหน เมื่องบฯใหม่มา เมษายน
วันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณารายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565
ในบางช่วงบางตอน นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต คนละ 10,000 บาท และมีผู้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)แล้ว แต่ได้รับคำตอบมาว่า ไม่ผิด เนื่องมาจากเป็นเงินงบประมาณของรัฐ ไม่ใช่เงินส่วนตัว
ซึ่งการที่ กกต. ตอบแบบนี้ เป็นการติดกระดุมเม็ดแรกที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ เนื่องจาก กกต. ไม่ได้นำกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนสูง จึงไม่รู้ว่า กกต.ให้หลักเกณฑ์ใดมาตัดสิน ว่าหากใช้งบประมาณของรัฐแจกแล้วไม่มีความผิด และตอนนี้ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะนำงบประมาณมาจากไหน และเห็นว่าน่าจะไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาว่า กกต. จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 และ 235 ได้
ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า แกนนำพรรคเพื่อไทย ทำผิดต่อ รัฐธรรมนูญมาตรา 162 ตั้งแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพราะไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่าย ปัจจุบันก็ยังไม่มีการชี้แจง สุ่มเสี่ยงขัดต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต้องไม่บริหารโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง และก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ออกข่าวมาโดยตลอดว่าจะไม่ใช้งบประมาณ จะไม่กู้ แต่จะใช้มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ คือมอบหมายให้ธนาคารออมสินจ่ายงบประมาณไปก่อนในโครงการนี้ แต่โครงการดังกล่าวก็ไม่ได้อยู่ในหน้าที่ อำนาจ และขอบเขตวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งธนาคารออมสินแต่อย่างใด และหาก บังคับผู้อำนวยการธนาคารออมสินมากๆ ท่านอาจจะลาออกได้ เนื่องจากท่านก็กลัวจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า นายกฯยังให้ข่าวอย่างต่อเนื่องว่าในวันที่ 1 ก.พ. 2567 เงินดิจิทัลจะเข้าสู่ระบบ และประชาชนทุกคนจะได้เงิน แต่จะเอาเงินมาจากไหน ในเมื่อปฏิทินงบประมาณปี 2567 จะออกในเดือน เม.ย. 2567 แสดงว่า ครม. ต้องใช้วิธีกู้เงินจากธนาคารของรัฐ หรือธนาคารออมสิน แต่เงินกู้ที่ได้มาก็ต้องเป็นเงินแผ่นดินเช่นกัน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และมีหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบโครงการนี้ได้ ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีผู้ไปร้องแล้ว เช่นเดียวกับ ป.ป.ช. ก็ได้ตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบโครงการนี้โดยตรง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า สรุปแล้ว โครงการเงินดิจิทัล มีข้อสงสัยมากมายคือ จะนำเงินงบประมาณมาจากไหน 5.6 แสนล้านบาท ทำไมไม่จ่ายเป็นเงินสดเข้าบัญชีธนาคารโดยตรง ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแลกเหรียญดิจิทัลกลับไปกลับมา 6% อีก 33,600 ล้านบาท ค่าจ้างทำโปรแกรมบล็อกเชนอีกกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท กรณีดังกล่าวหากเกิดเงินเฟ้อ สินค้าแพงขึ้น หนี้สาธารณะจะเพิ่มอีกเท่าใด จริงหรือที่การแจกเงินจะทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุน 3 รอบ และได้ถามพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ว่าเห็นด้วย และการที่นายกฯเดินทางไป จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา แล้วปลุกระดมให้ชาวพิษณุโลกคัดค้านคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเงินดิจิทัล ถือเป็นการพูดให้ประชาชนขัดแย้งแตกแยกกันเองหรือไม่ เหตุใดพรรคเพื่อไทยไม่คิดวิเคราะห์ผลกระทบและความเสี่ยงให้รอบคอบรอบด้านก่อนจะออกมาเป็นนโยบายหาเสียง เพื่อให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
“ดังนั้นกกต. ต้องกำหนดกลไกความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาศโฆษณานโยบายที่ไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบของความคุ้มค่าและความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการแจกเงินดิจิทัล เป็นการสัญญาว่าจะให้อย่างเห็นได้ชัด เป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า แต่ กกต.กลับตีความว่าไม่ผิด จึงหวังว่า กกต.คงไม่ปล่อยนโยบายแบบนี้ออกมาอีกในการเลือกตั้งอีก 4 ปีข้างหน้า” นายเฉลิมชัย กล่าว
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY