“นิด้าโพล” เผย ประชาชนร้อยละ 65.28 เห็นด้วยสร้างสนามบินนครปฐม เพื่อลดความแออัดของสนามบินดอนเมือง/สุวรรณภูมิ ช่วยส่งเสริมท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
วันนี้ (15 ก.ย.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เผยผลสำรวจ เรื่อง “สนามบินนครปฐม” โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,273 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการที่จะสร้างสนามบินนครปฐม เพื่อลดความแออัดของสนามบินดอนเมือง/สุวรรณภูมิ
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการเดินทางด้วยเครื่องบินของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.53 ระบุว่า ไม่เคยเดินทางด้วยเครื่องบิน ขณะที่ ร้อยละ 37.47 ระบุว่า เคยเดินทางด้วยเครื่องบิน
ด้านการใช้สนามบินในการเดินทางของผู้ที่เคยเดินทางด้วยเครื่องบิน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.84 ระบุว่า เคยใช้สนามบินดอนเมือง ขณะที่ ร้อยละ 59.75 ระบุว่า เคยใช้สนามบินสุวรรณภูมิ และร้อยละ 3.56 ระบุว่า เคยใช้สนามบินอื่น ๆ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการสร้างสนามบินนครปฐม เพื่อลดความแออัดของสนามบินดอนเมือง/สุวรรณภูมิ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.28 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะทำให้คนในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียงสามารถเดินทางไปใช้บริการสนามบินได้สะดวกขึ้น ขณะที่บางส่วน ระบุว่า เป็นการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวในท้องถิ่น และช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นมากขึ้น
รองลงมา ร้อยละ 18.54 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะยังไม่จำเป็น สนามบินดอนเมือง/สุวรรณภูมิ ยังสามารถรองรับผู้โดยสารได้ดีอยู่ ขณะที่บางส่วนเห็นว่าควรที่จะปรับปรุงสนามบินดอนเมือง/สุวรรณภูมิให้ดีขึ้นกว่าเดิมมากกว่า , ร้อยละ 14.45 ระบุว่า เฉยๆ ยังไงก็ได้ และร้อยละ 1.73 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการมีสนามบินนครปฐม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.86 ระบุว่า นายทุน นักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน รองลงมา ร้อยละ 37.00 ระบุว่า ชาวจังหวัดนครปฐม , ร้อยละ 36.61 ระบุว่า ประชาชนในเขตพื้นที่ภาคตะวันตก , ร้อยละ 30.71 ระบุว่า ประเทศไทย , ร้อยละ 29.69 ระบุว่า ธุรกิจท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ภาคตะวันตก , ร้อยละ 2.12 ระบุว่า ไม่มีใครได้ประโยชน์ , ร้อยละ 1.49 ระบุว่า อื่นๆ ผู้ที่ใช้บริการสนามบิน ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และร้อยละ 6.05 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อ่านข่าว Bright Today