พิษโควิด! บางกอกแอร์เวย์ส เปิดเออร์รี่ รีไทร์ จ่ายเงินชดเชย ตามกฎหมาย สูงสุด 20 เดือน ระบุจำเป็นต้อง ปรับโครงสร้าง ให้สอดคล้อง กับจำนวนเที่ยวบิน และเส้นทางบินที่ลดลง
เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนวงการการบินทีเดียว เมื่อ บางกอกแอร์เวย์ หรือ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ได้ออกประกาศแจ้งพนักงาน เปิดเออร์รี่ รีไทร์ หลังจากเกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่
ล่าสุดสายการบิน บางกอกแอร์เวย์ส บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ได้ออกประกาศแจ้งพนักงาน โดยระบุว่า บริษัทมีความจำเป็น ต้องปรับโครงสร้างองค์กรให้มีจำนวนบุคลากรในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงจำนวนเที่ยวบิน และเส้นทางบินที่ลดลง บริษัทจึงเปิด “โครงการร่วมใจจากองค์กรปี 2563” หรือโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) ภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้
บางกอกแอร์เวย์ เปิด เออร์รี่ รีไทร์ ภายใต้คุณสมบัติ
- คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ
1.1 พนักงานประจำและพนักงานสัญญาจ้างของบริษัทโดยไม่ จำกัด อายุของพนักงานและอายุการทำงาน
1.2 ต้องเป็นพนักงานที่ปฏิบัติงานในประเทศไทย หรือพนักงานคนไทยที่ได้รับมอบหมาย ให้ไปปฏิบัติงานต่างประเทศเท่านั้น
1.3 ต้องไม่เป็นพนักงานที่ได้รับอนุมัติการลาออก หรือได้รับการพิจารณาเลิกจ้าง ไปก่อนการเปิดรับสมัครโครงการฯ นี้
1.4 ต้องไม่เป็นพนักงานที่มีกำหนดเกษียณอายุ หรือครบกำหนดระยะเวลาสัญญาจ้างในปี 2563
1.5 ต้องไม่อยู่ระหว่างถูกสอบสวนทางวินัย หรือถูกกล่าวหา ว่ากระทำความผิดอาญาต่อ บริษัท
- หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
2.1 บริษัทจะเปิดรับสมัครพนักงานที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 (เอกสารใบสมัครตามแนบท้ายประกาศ) โดยใบสมัครนี้สำหรับผู้ต้องการเข้าร่วมโครงการฯ เท่านั้น และเมื่อดำเนินการสมัครแล้วไม่สามารถยกเลิกการสมัครได้
2.2 บริษัทมีดุลพินิจ แต่เพียงผู้เดียวในการพิจารณาพนักงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยพนักงานจะได้รับการแจ้งผลการพิจารณาเป็นรายบุคคล และผลการพิจารณาของบริษัท ถือเป็นที่สิ้นสุด
2.3 ในกรณีที่พนักงานมีข้อผูกพันในสัญญาใดของ บริษัทจะนำมาพิจารณาประกอบในคราวเดียวกัน
2.4 บริษัทกำหนดให้พนักงานที่ผ่านการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการฯ มีผลพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานในวันที่ 1 สิงหาคม 2563
2.5 พนักงานที่ได้รับอนุมัติให้พ้นสภาพการเป็นพนักงาน ตามโครงการแล้วจะแจ้งยกเลิกใดๆ ไม่ได้
2.6 ในกรณีที่พนักงานเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน จะพ้นสภาพการเป็นสมาชิกดังกล่าวทันที่ ที่พ้นสภาพการเป็นพนักงานตามข้อ 2.4
2.7 ข้อปฏิบัติสำหรับพนักงานที่ผ่านการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการฯ
(1) พนักงานต้องไม่นำข้อมูลความลับทางการค้าหรือทางธุรกิจตลอดจนข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าและพนักงานไปใช้หรือเปิดเผย
(2) พนักงานระดับจัดการขึ้นไปต้องไม่ไปทำงานกับคู่แข่งของ บริษัทเป็นเวลา 24 เดือน นับจากวันที่มีผลให้พ้นสภาพตามโครงการฯ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจาก บริษัท
(3) ในกรณีพนักงานไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามข้อ 2.7 นี้หรือกระทำการใดๆ จนก่อให้เกิดความเสียหาย บริษัทจะดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลนั้นๆ ต่อไป
2.8 ผลประโยชน์ใด ๆ ในโครงการฯ นี้ไม่ถือเป็นบรรทัดฐานและไม่ผูกพันเป็นสภาพการจ้าง
- ผลประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับ
3.1 ค่าชดเชยตามกฎหมายคำนวณจากเงินเดือน และเงินได้ประจำเดือนเมษายน 2563
3.2 ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า คำนวณจากเงินเดือนและเงินได้ประจำเดือนเมษายน 2563
3.3 เงินตอบแทนพิเศษโดย บริษัทคำนวณจากเงินเดือนเดือนเมษายน 2563 เท่านั้น
3.4 ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2563 คงเหลือตามส่วน
3.5 เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเต็มจำนวนร้อยละ 100 ทั้งส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง
3.6 สนับสนุนบัตรโดยสารสำหรับพนักงาน และบุคคลสนิทตามประกาศสำนักผู้อำนวยการใหญ่ที่ 7/2548 และประกาศฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ 10/2550 ข้อกำหนดเกี่ยวกับบัตรโดยสารสำหรับอดีตพนักงาน
(1) พนักงานที่มีอายุงาน 15 ปีขึ้นไป ได้รับการสนับสนุนตามแนวทางประกาศข้างต้น
(2) พนักงานที่มีอายุงานน้อยกว่า 15 ปีจะได้รับการสนับสนุนบัตรโดยสาร เป็นระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่มีผลพ้นสภาพ การเป็นพนักงานบัตรโดยสาร AD0ON2 ในประเทศและต่างประเทศจำนวน 1 ใบต่อปีต่อคนบัตรโดยสาร AD9ON2 ในประเทศและต่างประเทศจำนวน 1 ใบต่อปีต่อคน
3.7 สิทธิประโยชน์ประกันชีวิต-อุบัติเหตุ และสุขภาพจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 แต่ไม่เกินอายุ 65 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้พนักงานจะไม่ได้รับสิทธิส่วนเกินวงเงินประกันสุขภาพในกรณีใช้บริการที่กลุ่มโรงพยาบาล BDMS อีกต่อไป
3.8 หนังสือเลิกจ้าง และหนังสือรับรองการทำงาน เพราะเหตุเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรปี 2563 เพื่อการขอประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม
3.9 หนังสือรับรองการจ่ายเงินค่าชดเชย เพื่อให้พนักงานที่มีอายุงานเกิน 5 ปี ขึ้นไป ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ ค่าชดเชย ส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง หรือค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท
3.10 การนับจำนวนปีที่ทำงาน เพื่อคำนวณผลประโยชน์เงินตอบแทนพิเศษ ให้นับระยะเวลาตั้งแต่วันที่เข้าทำงานกับ บริษัทจนถึงวันสุดท้าย ของการเป็นพนักงาน (31 กรกฎาคม 2563) หากมีเศษของปีตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ให้นับเป็น 1 ปี แต่หากน้อยกว่า 6 เดือนจะไม่นำมาคำนวณ
3.11 รายการที่ใช้คำนวณเงินตอบแทนพิเศษ คือเทียบเท่าเงินเดือน โดยใช้อัตราเงินเดือนในเดือนเมษายน 2563 โดยพนักงานที่ได้รับมอบหมาย ให้ไปปฏิบัติงานประจำต่างประเทศให้ใช้ฐานเงินเดือน ที่กำหนดในประเทศไทย เพื่อนำมาคำนวณเงินตอบแทนพิเศษ