“เพื่อไทย” แจงปม “สภาล่ม” หลังจาก ก้าวไกล ขอนับองค์ประชุมใหม่ คาดเอาคืน ปม เห็นต่าง! การเสนอ แก้รัฐธรรมนูญใหม่ กับก้าวไกล
เมื่อวันที่ 31 กันยายน 2566 ได้มี การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงบ่าย มีการพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แต่หลังจากที่มีการนับองค์ประชุม ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบ มีสมาชิกเข้าแสดงตนเพียง 96 คน ทำให้นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานในการประชุม ได้สั่งปิดการประชุมทันที อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นเหตุการณ์องค์ประชุมล่มครั้งแรก นับแต่มีสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26
ต่อมา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเหตุ สภาล่ม ในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ว่า การเสนอนับองค์ประชุมนั้นถือว่าเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะสามารถทำได้และเป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายเสียงข้างน้อยในการตรวจสอบ แต่โดยหลักการแล้วในอดีตจะใช้การนับองค์ประชุมกันเฉพาะที่เป็นร่างกฎหมายที่ไม่เห็นชอบด้วยเท่านั้น หากเป็นเรื่องความเดือดร้อนและปัญหาของพี่น้องประชาชนจะไม่เคยทำกัน เพราะถือว่าปัญหาของประชาชนเป็นวาระที่สมาชิกควรจะมีโอกาสอภิปรายอย่างเต็มที่ เพื่อนำเสนอความเห็นส่งเรื่องไปยังผู้มีอำนาจให้ดำเนินการการแก้ไขปัญหา ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นคือสมาชิกได้เสนอญัตติเกี่ยวกับปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ เพื่อนำเสียงสะท้อนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่งไปยังรัฐบาลให้เร่งแก้ไข ซึ่งไม่ใช่เรื่องของร่างกฎหมายที่จะต้องมีการลงมติอะไร
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการเตรียมการแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสมาชิกพรรคเพื่อไทยจำนวนมากอยู่ในระหว่างการเตรียมการทางนโยบาย เพื่อให้พร้อมสำหรับการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย มีทั้งหน่วยงานต่างๆ เข้ามาหารือ ซึ่งเราก็หวังว่านโยบายต่างๆ จะต้องมีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ทันที ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการทำงานของสภา
อีกทั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ได้ย้ำกับสมาชิกพรรคเพื่อไทยหลายครั้งในเรื่องการให้ความสำคัญกับสภา เชื่อว่าเมื่อมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมบูรณ์แล้วเราก็จะดำเนินการรักษาการประชุมสภาให้ราบรื่นได้

นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า เหตุที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นสัญญาณเตือนว่าหลังจากนี้จะไม่มีกลไกหรือหลักการอะไรเหมือนในอดีต หากมีจังหวะทุบได้ก็คงจะทุบกันเลย อีกทั้งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นอารมณ์ที่ค้างมาจากเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ในญัตติเรื่องประชามติ ซึ่งในเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมองต่างกัน โดยพรรคเพื่อไทยได้มีการประกาศชัดเจนอยู่แล้วว่ารัฐบาลจะดำเนินการให้มีมติ ครม. ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ต้องผ่านวุฒิสภาและดำเนินการได้ทันที แต่สิ่งที่พรรคก้าวไกลกำลังจะดำเนินการคือทำตามกลไกของกฎหมายประชามติ ซึ่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้วก็ต้องส่งไปยังวุฒิสภาแต่เป็นไปได้สูงว่าวุฒิสภาก็จะตีตกหรืออาจถูกดึงเรื่องไว้ในท้ายที่สุด
“พรรคเพื่อไทย ยืนอยู่กับโลกความจริงว่าเราจะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้อย่างไร หากทำในแนวทางที่เรารู้อยู่แล้วว่าเดินไปไม่ถึงเป้าหมาย แล้วเราจะได้อะไร เรายืนยันว่าจะใช้กลไกที่มีอยู่ทำให้เป้าหมายเราเป็นจริงให้มากที่สุดคือ เพื่อที่จะทำให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” นายจุลพันธ์ กล่าว
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY