ครั้งแรกของเกาะสิมิลันกับการค้นพบ หอยเม่นหมวกกันน็อค สัตว์ทะเลหายาก บริเวณหมู่เกาะสิมิลัน เกาะบางงู จังหวัดพังงา
เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุยานแห่งชาติ สล.2 (เกาะสิมิลัน) รายงานว่า ในการลาดตะเวนเชิงคุณภาพ จากการสำรวจ เจ้าหน้าที่ได้พบหอยเม่นหมวกกันน็อค สัตว์ทะเลหายาก ประมาณ 50 ตัว บริเวณเกาะบางงู ซึ่งเป็นการค้นพบสัตว์ทะเลหายากครั้งแรกของเกาะสิมิลัน

หอยเม่นหมวกกันน็อค มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Colobocentrotus atratus หรือที่รู้จักกันในชื่อ หอยเม่นกระเบื้องมุงหลังคา รูปลักษณะที่ต่างจากหอยเม่นทั่วไปคือ เนื้อตัวที่เกลี้ยงเกลาไร้หนามแหลมมุงด้วยกระเบื้อง
รู้ไหมทำไมหอยเม่นหมวกกันน็อคถึงไร้หนาม
สาเหตุที่ทำให้หอยเม่นหมวกกันน็อคเป็นเช่นนี้ เพราะว่า หอยเม่นสามารถปรับตัวให้เหมาะกับพื้นที่ที่อยู่อาศัย และเนื่องจากถิ่นที่อยู่ มีคลื่นลมรุนแรงหนามแหลมอาจจะเป็นอุปสรรคต่อมันได้ และคลื่นลมที่แรงทำให้นักล่าน้อยหนักที่จะเข้าถึงตัวพวกมันได้ หนามแหลมที่ใช้ป้องกันตัวจึงหมดความจำเป็น
นายสุธีรชัย สมทา นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล กล่าวว่า จากการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบแรงยึดเกาะของหอยเม่นหมวกกันน็อค พบว่า หอยเม่นหมวกกันน็อคสามารถต้านทานแรงปะทะคลื่นได้ตั้งแต่ความเร็ว 17.5 เมตรต่อวินาที ไปจนถึง 27.5 เมตรต่อวินาที ซึ่งหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ความเร็ว 27.5เมตรต่อวินาที สามารถถอนต้นไม้ได้ทั้งต้นได้ทีเดียว !
หอยเม่นหมวกกันน็อค พบได้ทั่วไปตามชายหาดที่มีคลื่นซัดและมีโขดหิน สามารถพบได้ในแถบ มหาสมุทรแปซิฟิกทางทิศตะวันตกของอินโดนีเซีย และหมู่เกาะฮาวาย แต่ในประเทศไทยได้มีรายงานการพบหอยเม่นหมวกกันน็อคน้อยมาก โดยรายงานการพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 โดย ดร.สมชัย บุศราวิช และอีกครั้งในปี 2547 โดย ดร.สุเมตต์ ปุจฉาการ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา

ข้อมูล : อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน