โคกหนองนา มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย , บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนตบเท้าเข้าร่วมงาน “รวมพลคนสร้างโคก หนอง นา ตอน มีป่า มีน้ำ มีกิน ครั้งที่ 1” ระหว่างวันที่ 22 – 23 กุมภาพันธ์ 2563 ณ วัลลภาฟาร์ม อ.เมือง จ.ลพบุรี โดยงานนี้ ได้รับเกียรติจากนายผดุงศักดิ์ หาญปรีชาสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เปิดประธานเปิดงาน
เรียนรู้แนวทางการจัดการน้ำ การหยุดน้ำท่วม-น้ำแล้ง ด้วยโคก หนอง นา ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ ห้องเรียนมีชีวิตโดยผู้ลงมือพลิกฟื้นผืนดินสู่ความยั่งยืนด้วยโคก หนอง นา จากพื้นที่ใน 7 จังหวัด ลุ่มน้ำป่าสัก ที่มามอบความรู้ ให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้สนใจในการทำโคก หนอง นา ในพื้นที่ของตนเอง และที่พิเศษสุดๆ กับการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “โคก หนอง นา ทางเลือกหรือทางรอด?” โดย ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อ.ยักษ์นายกสมาคมดินโลกและที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ พร้อมเพลิดเพลินไปกับ Agri’ Organic Market ตลาดนัดกสิกรรมธรรมชาติ ชิ้ม ช้อป ผลพลิตอินทรีย์จากแปลง โคก หนอง นา ในแนวคิด “ของกินข้างบ้าน แบ่งปัน อุ้มชู” และไฮไลท์สำคัญอยู่ที่กิจกรรมการเอามื้อสามัคคี พร้อมใจกันลงมือปรับพื้นที่เพื่อการทำเกษตรอย่างยั่งยืน
เรามาทำความเข้าใจแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ในบทเรียนวิชา “โคก หนอง นา” กัน…
โคก หนอง นา ประกอบด้วยองค์ความรู้ในเรื่องการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร สู่การปฏิบัติตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เหมาะสมกับภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่ องค์ความรู้ที่ยืดหยุ่นนี้ เริ่มต้นด้วยแนวคิดการจัดการน้ำ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อกักเก็บน้ำไว้ทั้งบนดิน (ด้วยหนอง คลองไส้ไก่ และคันนา) และใต้ดิน (ด้วยป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างตามแนวพระราชดำริ)
โคก สร้างโคกบนพื้นที่ของตนเอง จากการนำดินที่ได้จากการขุดหนอง นำมาถมเป็นโคกเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งปลูกต้นไม้ตามแนวทางศาสตร์พระราชา คือ “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อพอกิน เพื่อใช้สอยในครัวเรือนหรือพอใช้ และเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยหรือพออยู่ จากนั้นประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ช่วยสร้างสมดุลระบบนิเวศ เพราะใบไม้ที่ร่วงหล่นจะช่วยปกคลุมหน้าดิน ในขณะที่รากจำนวนมากช่วยดูดซับน้ำฝน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใต้โคกเป็นน้ำใต้ดินเพิ่มความชุ่มชื้น
หนอง ขุดหนอง รูปร่างคดโค้งอิสระ ไม่เป็นสี่เหลี่ยม เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และสามารถใช้เป็นที่รองรับน้ำยามน้ำท่วมหลาก และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา
นา ยกหัวคันนาให้กว้างและสูงอย่างน้อย 1 เมตร ธรรมชาติของข้าวจะทะลึ่งน้ำไม่จมน้ำตาย เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ในนา ขุดร่องใกล้หัวคันนา เป็นที่อยู่ของปลา ปู ปั้นหัวคันนาให้มีความกว้างมากพอที่จะปลูกต้นไม้ พืชผัก ให้มีรากยึดเหนี่ยวคันนา และเพิ่มพื้นที่ทำกิน
คลองไส้ไก่ ช่วยระบายน้ำรอบพื้นที่ โดยขุดให้มีลักษณะคดเคี้ยว เพื่อให้น้ำไหลได้ทั่วถึงตลอดทั้งพื้นที่เพื่อใช้ทำการเกษตรและช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนดินและต้นไม้โดยรอบ
ฝายชะลอน้ำ ช่วยชะลอและกักเก็บน้ำจากต้นน้ำไว้ในพื้นที่ เพื่อไม่ให้น้ำหลากลงมาสร้างความเสียหายกับพื้นที่ลุ่มด้านล่างและช่วยกักตะกอนดินไม่ให้ลงมาสะสมในหนอง คลอง บึง หรือเขื่อน นอกจากนั้น สำหรับพื้นที่กลางน้ำฝายชะลอน้ำยังช่วยยกระดับน้ำเพื่อเก็บไว้ในพื้นที่อีกด้วย
ด้วยรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” นี้ เป็นภูมิปัญญาเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างแยบยล เพราะป้องกันได้ทั้งอุทกภัยเมื่อน้ำมาก และที่สำคัญยังมีน้ำเก็บไว้ใช้ยามน้ำน้อย เกษตรสามารถปลูกพืชพันธุ์ได้ตลอดปี มีพอกิน พออยู่ พอใช้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน