วันนี้(25ธ.ค.62) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และการแก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการฟื้นฟูและพัฒนาลำน้ำคูคลอง เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา)นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ ณ คลองเทา บ้านหนองแหน ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมื่องชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่อีสานตอนกลางว่า ปัจจุบัน(24ธ.ค.62) เขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่ง (เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 1,998 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนขนาดกลางจำนวน69แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 245 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากปริมาณน้ำมีจำนวนจำกัด กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 จึงได้เตรียมพร้อมด้านเครื่องมือเครื่องจักร อาทิ เครื่องสูบน้ำจำนวน 148 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำอีกจำนวน 5 คัน ไว้สำหรับเข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำได้อย่างทันท่วงที
สำหรับการให้ความช่วยเหลือปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ นั้น กรมชลประทาน ได้วางแผนร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค แก้ปัญหาภัยแล้งพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค 2 แห่ง ได้แก่ พื้นที่การประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเขียว ซึ่งปัจจุบันใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำน้ำพรม และน้ำจากเขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 46.50 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 9.20 ล้าน ลบ.ม. มาผลิตน้ำประปา มีอัตราการผลิต 7,200 ลบ.ม. ต่อวัน ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวเพียงพอสำหรับการผลิตน้ำประปาไปจนถึงสิ้นฤดูแล้งปี63 และพื้นที่การประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเขียว หน่วยบริการบ้านดอน ปัจจุบันใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบ้านเพชร มีปริมาณน้ำ1.16 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ -1.84 ล้าน ลบ.ม. มาผลิตน้ำประปา และสามารถนำน้ำก้นอ่างมาใช้เพื่อผลิตน้ำประปาได้อีก 0.66 ล้าน ลบ.ม. โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยเขื่อน ซึ่งมีอัตราการผลิต 2,000 ลบ.ม ต่อวัน ปริมาณน้ำดังกล่าวเพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาไปจนถึงสิ้นฤดูแล้งปี63 เช่นกัน นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ดำเนินแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม ด้วยการเจาะบ่อบาดาลหาแหล่งน้ำดิบเพิ่มเติม และทำการขุดรองชักน้ำในอ่างเก็บน้ำปานเพชร รวมทั้งลดแรงดันในเวลากลางคืนพร้อมกำหนดมาตราในการประหยัด
ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำต้นทุนมีปริมาณจำกัด จึงขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ไปจนถึงฤดูฝนปีหน้า