กรมอุทยานฯ เผยสาเหตุ เสือโคร่งห้วยขาแข้ง หนีออกนอกป่าเพราะถูกแย่งพื้นที่หากินจากเสือหนุ่มกว่า และไปกัดสัตว์เลี้ยงตายจำนวนมาก
12 ก.พ. 64 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบหมายให้ตนเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนเข้มข้น ในการเฝ้าระวัง และผลักดันเสือกลับเข้าป่า ต่อมาในเวลา 09.00 น. ได้ประชุมร่วมกับผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนสมาชิกสภาราษฎรในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เพื่อหาทางเฝ้าระวัง โดยแจ้งในที่ประชุมว่า คืนนี้ จะจัดชุดเจ้าหน้าที่อุทยาน มาเฝ้าคอกสัตว์เลี้ยง ที่มีอยู่กระจายอยู่ทั่วไป จำนวน 25 คอก คอกละ 3 คน เพื่อไม่ให้เสือเข้ามาทำร้ายสัตว์เลี้ยงอีกต่อไป
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ชุดติดตามเสือโคร่ง นำโดย นางสาววีรยา โอชะกุล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ และเจ้าหน้าที่ ได้เดินแกะรอยเสือ อย่างต่อเนื่อง จนพบว่า เสือมาหลบร้อน ซ่อนตัวอยู่ในท่อระบายน้ำข้ามถนนใกล้กับสถานีไฟป่าห้วยขาแข้ง จึงได้จัดชุดซุ่มดักยิงยาสลบ ทั้ง 2 ข้าง แต่เสือโคร่งไม่ยอมออกมา จึงได้ใช้ฟางจุดสุมไฟเพื่อให้ควันไฟไล่ให้เสือออกมา ก็เป็นไปตามคาด เจ้าหน้าที่ซึ่งเตรียมปืนดักยิงที่มีลูกดอกยาสลบอยู่แล้ว ได้ลงมือยิงทันที ที่เสือออกมา ลูกดอกถูกตรงตามเป้า เสือโคร่งวิ่งหนีเข้าป่าไป แต่เจ้าหน้าที่มั่นใจว่า อีกราว 15 นาที เสือตัวนี้น่าจะต้องหมดแรงและสลบ ดังนั้นเมื่อครบ 15 นาที จึงเดินตามเข้าไป ก็พบเสือนอนสลบอยู่ห่างจากจุดที่ยิงลูกดอกยาสลบ ประมาณ 500 เมตร

จากนั้นนางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 พร้อมทีมสัตวแพทย์ ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และสัตวบาล ช่วยกันพยาบาล สร้างความอบอุ่น พัดลมระบายอากาศ และฉีดยาบำรุง พร้อมทำแผลให้กับเสือ
จากการตรวจสอบพบว่าเป็นเสือเพศผู้ น้ำหนักประมาณ 120 กิโลกรัม มีพื้นที่หากินราว 200 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม พื้นที่ป่าเวิ้งที่ทำการเขตฯห้วยขาแข้ง ตีนเขาเนางรำ จากการวิจัยล่าสุดทำให้รู้ว่า มีเสือโคร่งตัวผู้ที่กำยำและหนุ่มกว่า เข้ามาช่วงชิงพื้นที่หากิน ทั้งทางด้านใต้และด้านเหนือ เป็นเหตุให้ มันต้องหาแหล่งหากินใหม่ ซึ่งพื้นที่ที่ค้นพบครั้งนี้ แม้เป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่ แต่เป็นที่ชุมชน จึงทำให้กรมอุทยานต้องผลักดันกลับสู่ป่า โดยก่อนปล่อยคืนสู่ป่าเจ้าหน้าที่ได้ทำการติดปลอกคอติดตามตัว เพื่อจะได้ทราบความเคลื่อนไหวของเสือตัวนี้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำเสือเข้ากรง ขนย้ายไปปล่อยกลางป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อไม่ให้ออกนอกพื้นที่ป่าอีก ในส่วนของซากวัว ที่เสือล่าไว้ 2 ตัว เมื่อคืนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ได้นำติดรถไปด้วย 1 ตัว เพื่อให้เสือได้กินเป็นอาหาร

ด้านนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำชับมาก่อนหน้านี้ว่า ขอให้เจ้าหน้าที่มีความระมัดระวังในการปฎิบัติ เน้นให้ทั้งเสือและคนปลอดภัย และสั่งให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เข้าไปหารือพูดคุยกับเจ้าของสัตว์เลี้ยง ในการเยียวยาให้กับราษฎรเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่โดนเสือทำร้าย ทั้งนี้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ในนามกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอขอบพระคุณทุกภาคส่วนในความร่วมมืออย่างดียิ่ง จนสามารถปฎิบัติการในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงลงมาได้ด้วยดีตามแผนที่วางไว้

ขอบคุณ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช