กำจัดวัชพืช ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์น้อย แม้จะมีฝนตกระยะนี้ แต่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯเพียงบางแห่งเท่านั้น ย้ำทุกโครงการชลประทานติดตามและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนให้เป็นไปตามแผนการจัดการน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด วอนทุกภาคส่วนการ์ดอย่าตกร่วมกันประหยัดน้ำอย่างต่อเนื่อง
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่าปัจจุบัน(9 ก.ค.63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 32,018ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,365 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน7,545ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 30ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 849ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,098ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 43ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,787ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55ของแผนจัดสรรน้ำฯคงเหลือปริมาณน้ำที่จะต้องจัดสรรอีกเพียง 1,463 ล้าน ลบ.ม.
“ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่งปฏิบัติตามแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากในช่วงฤดูฝนปี63 ทั้งการกำหนดบุคลากรกำหนดพื้นที่เสี่ยงกำหนดเครื่องจักรเครื่องมือการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบพร้อมประชาสัมพันธ์เกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มการเพาะปลูกให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปหลังกลางเดือนกรกฎาคมหรือจนกว่าจะมีปริมาณฝนตกในพื้นที่อย่างเพียงพอสำหรับพื้นที่ที่เพาะปลูกไปแล้วกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำท่าในแม่น้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นๆเข้าไปช่วยเสริมทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝนที่ตกในพื้นที่รวมทั้งตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำการกำจัดวัชพืชในลำน้ำและแหล่งน้ำต่างๆให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้

