กางประกาศ ป.ป.ช. ปิดช่อง “ทุจริต” สั่ง “บิ๊กขรก.-ผู้นำเหล่าทัพ-กก.สภามหาวิทยาลัย” แจ้งบัญชีทรัพย์สิน คุมเข้มถึงสามี-ภรรยานอกสมรส
ภายหลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในเรื่อง หลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส พ.ศ.2561 นั้น กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดคุยถึงนิยามคำว่า “อยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส” หมายถึงบุคคลใด จากเดิมที่กฎหมายป.ป.ช.ได้กำหนดให้คู่สมรสต้องยื่นเท่านั้น
ทว่าในข้อ 3 ของคำประกาศได้อธิบายไว้ว่า เกี่ยวข้องกับบุคคลซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐ และมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ให้ถือเป็นคู่สมรสตามมาตรา 102 วรรคสอง และมาตรา 126 วรรคสาม แห่งพ.ร.บ. ป.ป.ช.พ.ศ.2561 ประกอบด้วย
1.ได้ทําพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใดในทํานองเดียวกันกับเจ้าพนักงานของรัฐ โดยมีบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกรับทราบว่าเป็นการอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประเพณี
2.เจ้าพนักงานของรัฐแสดงให้ปรากฏว่ามีสถานะเป็นสามีภริยากัน หรือมีพฤติการณ์เป็นที่ รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะดังกล่าว
ทั้งนี้ ยังให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งจดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐและต่อมาได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันตามกฎหมาย แต่ยังแสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่า มีสถานะเป็นสามีหรือภริยากัน
“วรวิทย์ สุขบุญ” เลขาธิการ ป.ป.ช. อธิบายว่า จากประกาศ ป.ป.ช.ได้กำหนดตำแหน่งผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. ซึ่งรวมสามี-ภริยานอกสมรสด้วย จากที่กฎหมายก่อนหน้านี้ได้กำหนดเฉพาะ “คู่สมรส” ต้องยื่นบัญชี แต่กลับพบว่ามีบางรายพยายามหลีกเลี่ยงโดยใช้ชิ่งว่างนี้ด้วยการ “หย่า” แต่ยังดำเนินชีวิตอยู่บ้านเดียวกัน ดังนั้นหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมาใหม่เพื่อป้องกันและอุดช่องว่างการ “ทุจริต” เพราะกฎหมายเดิมมีช่องว่างให้นักการเมืองหลีกเลี่ยงได้
“ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้เกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว ประกาศนี้จะมีผลบังคับใช้ 30 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นจะมีเวลาอีก 60 วันในการยื่น รวมเป็น 90 วัน โดย ป.ป.ช.จะแจ้งวันสุดท้ายที่ต้องยื่นให้ทราบอีกครั้ง”วรวิทย์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม จากประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังกำหนดตําแหน่งผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 ไล่ตั้งแต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีส.ส. ส.ว. ที่ปรึกษานายกฯ เลขาธิการนายกฯ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ตุลาการรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
นอกจากนี้ยังมีผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตั้งแต่หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ข้าราชการทหารตั้งแต่ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร ไม่เว้นแต่กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งจะเป็นกรณีกองทุนต่างๆ โดยเป็นประธาน กรรมการ เลขาธิการ ผู้จัดการ และบอร์ดจะต้องยื่นบัญชีฯ อาทิ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ส่วนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ประกอบด้วย อธิการบดี นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย
ขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในตำแหน่งอื่นๆ ยังต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย อาทิ ประธานกรรมการ กรรมการ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
ส่วนกรณีต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นหลักฐาน 3 ครั้ง ตั้งแต่ 1.เข้ารับตำแหน่ง 2.พ้นจากตำแหน่ง และ 3.พ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอย่างน้อย 3 ครั้งเช่นเดียวกัน แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดอยู่ในตำแหน่งครบ 3 ปี หรือ 5 ปี ต้องยื่นบัญชีในกรณีอยู่ในตำแหน่งครบ 3 ปี หรือ 5 ปีด้วยทุกครั้ง ดังนี้ 1.กรณีเข้ารับตำแหน่ง 2.กรณีดำรงตำแหน่งครบทุก 3 ปี หรือ 5 ปี 3.กรณีพ้นจากตำแหน่ง และ 4.กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี
ทั้งหมดจึงเป็น “ข้อกำหนด” ฉบับใหม่ ให้ผู้ที่มีตำแหน่งสำคัญในภาครัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ชัดเจน เพื่อปิดช่องว่างการทุจริต เปิดทางให้ “อำนาจทางกฎหมาย” ถูกใช้อย่างครอบคลุมกับผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่อไป