พรรคเพื่อไทย ชี้แจง 5 เหตุผลที่ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ผ่านโครงการ เงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ย้ำ ไม่ใช่การสงเคราะห์ชั่วคราว
วันนี้ 11 พฤศจิกายน 2566 ทางเพจเฟซบุ๊ก พรรคเพื่อไทย นั้นได้ออกมาชี้แจงถึงโครงการ เงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ว่าเพราะเหตุใดเศรษฐกิจประเทศไทยจึงต้องได้รับการแก้ไข และกระตุ้นด้วย โดยพรรคเพื่อไทยนั้นชี้แจงว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นแล้วจริงหรือ? หากพิจารณาอย่างรอบด้าน จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังคงซบเซาและจำเป็นต้องมีการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งเติมเงินเข้าสู่ระบบผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพื่อกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นมาอีกครั้ง ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพของประเทศ ตามเป้าหมาย 5%
โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทไม่ใช่โครงการสังคมสงเคราะห์ แต่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการเติมเงิน 10,000 บาทให้พี่น้องประชาชน ซึ่งสามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มโอกาสให้พี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่และทุกระดับทั่วประเทศสามารถเริ่มต้นลงทุนประกอบอาชีพได้ด้วยตัวเอง อีกทั้ง การเติมเงินดิจิทัลในครั้งนี้ จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและการผลิตสินค้าเพิ่มเติม ที่จะสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนต่อไป
5 เหตุผล ทำไมต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วผ่านการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท
1.เศรษฐกิจไทยยังคงซบเซา เติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวน้อยลงจากปีก่อนหน้า โดยในครึ่งปีแรก ขยายตัวเพียง 2.2% และยังมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลงจากที่คาดจะขยายตัวที่ 3.5% (กรกฎาคม 2566) เป็น 2.6% (ตุลาคม 2566) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่คาด ยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่ามาก ตลอด 10 ปีที่ผ่าน ไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 1.9%
2.เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศโตเต็มศักยภาพ ต้องเติมเงินใหม่เข้าระบบอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่มีมาตรการใดๆ แล้วปล่อยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ระดับประมาณ 2% แบบนี้ รายได้ของประชาชนก็จะไม่เติบโต และรัฐบาลจะเก็บภาษี เพื่อมาบริหารประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนได้น้อยลง การกระตุ้นที่รวดเร็วพอในระยะสั้นจึงสำคัญเพื่อที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นมาอีกครั้ง ณ ขณะนี้ รัฐบาลได้มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายหลายประการ อาทิ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน หรือพักหนี้เกษตรกร ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระและลดต้นทุนในการผลิตในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศ
เงินดิจทัลวอลเล็ต ต่างจากโครงการอื่นอย่างไร
3.มีแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน รวดเร็ว มีประสิทธิภาพกว่ามาตรการอื่น ความแตกต่างของดิจิทัลวอลเล็ตกับโครงการอื่นที่ผ่านมา คือการเติมเงินที่ ‘มากพอ’ และยังมีการกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินด้วยการใช้ Digital Wallet ที่ส่งเสริมให้กระตุ้นเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง ได้แก่
- ดิจิทัลวอลเล็ตจะเริ่มใช้ได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2567 และเปิดให้ประชาชนใช้จ่ายภายใน 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งส่งเสริมให้ประชาชนนำเงินมาใช้จ่ายภายในกรอบระยะเวลา
- ร้านค้าที่ ‘รับเงิน’ ได้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบภาษี แต่ร้านค้าที่ ‘ขึ้นเงินสด’ ได้ต้องอยู่ในระบบภาษี และร้านค้าสามารถใช้เงินดิจิทัลได้ถึงเดือนเมษายน 2570 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เงินนี้มีโอกาสเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจต่อไปอีกหลายรอบ
- กำหนดให้ประชาชนใช้จ่ายได้ภายใน ‘อำเภอ’ ตามที่อยู่บัตรประชาชน ส่งเสริมให้เงินหมุนเวียนในพื้นที่
- กำหนดให้ซื้อของอุปโภคบริโภคเท่านั้น ไม่สามารถใช้ซื้อของที่เป็นอบายมุข และไม่อนุญาตให้จ่ายหนี้หรือค่าไฟ เพื่อรับประกันว่าเงินก้อนนี้จะถูกหมุนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 1 ครั้ง
- เติมเงินให้ประชาชนที่รายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือนและมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท การปรับสิทธิ์ครั้งนี้อิงจากสถิติการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น (Marginal Propensity to Consume – MPC) ของไทย ซึ่งเมื่อมีรายได้เพิ่ม ผู้ที่มีรายได้เกินจากเกณฑ์ที่กำหนดไม่ได้ใช้จ่ายเพิ่มเติมมากเท่ากลุ่มอื่น
- ทั้งนี้ รัฐบาลมีมาตรการเพิ่มเติมอย่าง e-Refund ซึ่งผู้เสียภาษีสามารถซื้อสินค้าภายในมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท และนําไปลดหย่อนภาษีเงินได้ในปีภาษี 2567
- พัฒนาต่อยอดแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ผ่านการปรับปรุงระบบและใช้ Blockchain ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานด้านดิจิทัลของประเทศ รัฐบาลจะสามารถพัฒนาต่อยอดไปให้บริการภาครัฐในด้านอื่น ๆ ผ่านแอปฯ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ
- จากการปรับรายละเอียดโครงการและจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ ผ่านการปรึกษาจากทุกภาคส่วนแล้ว โครงการจึงได้ปรับเงินส่วนหนึ่งเป็นจำนวนกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อนำไปสนับสนุนการลงทุนใน 13 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพให้ประเทศในระยะยาว
4.ไม่ใช่สังคมสงเคราะห์ กระตุ้นอย่างทั่วถึง ประชาชนเริ่มต้นทำมาหากินได้จริง โครงการนี้เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ผ่านสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท ไม่ใช่โครงการสังคมสงเคราะห์
5.ออกเป็น พ.ร.บ. ที่ได้รับการตรวจสอบผ่านสภา อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง จ่ายคืนได้ตามกำหนด รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีในการพัฒนาประเทศให้เติบโต ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตเต็มศักยภาพ โดยการเติมเงินใหม่เข้าสู่ระบบด้วยโครงการนี้ จึงเลือกใช้งบประมาณหลักผ่านการออก พ.ร.บ. ซึ่งมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา ซึ่งมั่นใจได้ว่าจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 การใช้งบประมาณในครั้งนี้จะอยู่ในกรอบวินัยการคลัง เพราะจะเป็นการสร้างการเจริญเติบโตของ GDP ประเทศให้ได้ตามเป้าหมาย หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ประมาณ 62% จากเพดาน 70% ณ ขณะนี้ แต่เมื่อ GDP เพิ่มขึ้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะไม่เพิ่มขึ้นจนกระทบวินัยการคลัง

ที่มา : พรรคเพื่อไทย