เยาวชนปลดแอก ออกแถลง ไม่รับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ รุ้ง-ไมค์-อานน์ ล้มล้างการปกครอง กรณีชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ยันปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง
จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านคำวินิจฉัย คำร้องขอให้ศาลรธน.วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ การกระทำของผู้ชุมนุมได้แก่ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก(ไมค์) น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง)กรณีชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
โดยโดยศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านคำวินิจฉัยว่า การกระทำของ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก(ไมค์) น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) เป็นการชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงสั่งการให้ผู้ถูกร้องและเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าว
ศาลรธน.วินิจฉัย อานนท์-รุ้ง-ไมค์ เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ สั่งเลิกการกระทำดังกล่าว
ต่อมา หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย เฟซบุ๊ก เยาวชนปลดแอก ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า “จากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามดังกล่าว เห็นได้ว่าประวัดิศาสตร์การปกครองของไทยนั้น อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดนับแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์”
– ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีการปราศรัยเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ด้วยศาลรัฐธรรมนูญใช้เหตุผลข้างต้นวินิจฉัยว่าการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครอง เยาวชนปลดแอกขอแสดงจุดยืน ไม่รับคำวินิจฉัย เนื่องด้วยเหตุผล 3 ประการ
1. กษัตริย์ไม่เท่ากับรัฐประเทศไทยปกครองด้วยระบบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กษัตริย์ถืออำนาจเด็ดขาดในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการปกครอง ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะอ้างไม่ได้ ว่ากษัตริย์มีอำนาจปกครองในสมัยปัจจุบัน ซึ่งหากศึกษาประวัติศาสตร์พื้นฐาน ย่อมจะพบว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัฐไทยนั้น เริ่มขึ้นเมื่อ สมัยรัชกาลที่5 และจบลงในสมัย รัชกาลที่7 นับแต่ปี 2475 เป็นต้นมา เราทุกคนล้วนเสมอหน้ากันภายใตัรัฐธรรมนูญในระบบประชาธิปไตย
2. การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่เคยมีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครอง นี่ไม่ใช่การแสดงความเห็นโดยไม่สุจริต และไม่ได้มีเหตุจูงใจลัมล้างการปกครอง หากแต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพอันชอบธรรมในการแสดงความเห็น เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ธำรงอยู่ภายใต้ระบบประชาธิปไตยได้สืบไป
3. ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้างปฏิรูปแปลว่า ทำให้ดีขึ้น’ ผู้ที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ล้วนแต่ต้องการให้สถาบันอยู่ร่วมกับสังคมไทยได้อย่างมีเกียรติ และเสมอภาคกันภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ไม่ได้ต้องการทำลายหรือล้างผลาญให้สถาบันสูญสิ้นไปจากสังคมไทย นอกจากนี้ ไม่มีใครคิดล้มล้างการปกครองนอกจากเหล่า คณะรัฐประหาร ที่เชิดหน้าชูตาในตำแหน่งทางการเมืองและอ้างว่าตนเป็นคนดีที่ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์อยู่เสมอ
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คือการประนีประนอมอย่างสง่างามที่สุดแล้วภายใต้ประชาธิปไตยอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
