นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้ย้ำ! เงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท พร้อมปรับปรุงตามความเห็นที่ไม่ก้าวร้าว ต่างคนต่างหน้าที่
ความคืบหน้าล่าสุด กรณี เงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท หลังจากที่ รัฐบาลและกระทรวงการคลังได้ออกมาสรุปเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจกเงินและรัศมีการใช้งาน ส่วนที่มาของเงินที่จะนำมาทำโครงการ เงินดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลคาดว่า คนไทยได้รับสิทธิ์ 50 ล้านคน จะใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะออก พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. กู้เงิน มีแผนตามกรอบวินัยทางการเงิน โดยจะกู้เงินเมื่อมีการนำไปใช้และมาขึ้นเป็นเงินสด นั้นเอง ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษณ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องของการกู้เงิน
ต่อมา (15 พ.ย. 66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้เผยความคืบหน้าว่า คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน” ถึงกรณีที่หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงที่รัฐบาลจะออก พระราชบัญญัติกู้เงิน หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อนำมาใช้ในโครงการ แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า เป็นเรื่องที่ดี ช่วยกันเป็นห่วง เราจะได้ดำเนินการให้รอบคอบ รัดกุม เป็นไปตามข้อกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลมองว่าช่องทางนี้เป็นช่องทางที่มีความเหมาะสม มีความตรงไปตรงมา ได้รับความตรวจสอบจากรัฐสภา และเป็นเรื่องที่ดีหากมีการตรวจสอบจากองค์กรอิสระก่อนที่จะดำเนินการ แต่ในส่วนเรื่องแผนสำรอง หาก พ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ผ่านสภานั้น ขณะนี้ “ยังไม่มี”
รับฟังทุกความเห็น แต่ต่างคนต่างหน้าที่
ล่าสุด วันนี้ 16 พ.ย. 66 นั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล ว่าไม่ตรงกับที่หาเสียงเอาไว้ ว่า หากเรายึดมั่นกับสิ่งที่พูดไปโดยไม่ฟังความคิดเห็น ก็จะโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ซึ่งเราพยายามทำให้ดีที่สุด แต่ต้องปรับปรุงแต่งเติมบ้างตามข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วน และไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ พยายามรับฟังอยู่ วันนี้ก็รับฟัง อะไรที่ไม่ก้าวร้าวก็พร้อมจะรับฟัง
ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าการดำเนินการโครงการไม่ตรงกับที่หาเสียงเอาไว้ โดยอ้างว่าเป็นเพียง ‘เทคนิคในการหาเสียง’ อย่างเช่น บอกว่าจะไม่กู้เงิน แต่รัฐบาลก็กู้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกสิ่งที่พูดไปนั้น พยายามทำให้ได้อย่างที่พูด แต่ต้องมีการปรับปรุงแต่งเติมกันบ้าง
“แล้วแต่จะคิด ไม่อยากไปตอบโต้ สำหรับคำพูดที่ว่าจะทำแล้วไม่ทำ อย่าเอาความคิดของท่านมาให้ผมเลย ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำมีหน้าที่ก็ทำไป เป็นหน้าที่ของท่านที่ท่านจะพูด ส่วนผมก็เป็นหน้าที่ของผมที่ผมจะทำ”
สำหรับกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการยังเหมือนเดิมหรือไม่ หรือต้องรอความชัดเจนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน นายกรัฐมนตรีระบุว่า เข้าใจว่า ตอนที่เราดูเรื่องไทม์ไลน์ไปแล้ว เราดูเรื่องกฤษฎีกาแล้ว ว่าเราก็มีเวลาให้กฤษฎีกา ซึ่งไม่ต้องการไปกดดัน ว่าจะมีการประชุมเมื่อไหร่อย่างไร แต่ขณะนี้ยืนยันว่ายังคงอยู่ในไทม์ไลน์ และตั้งใจจะดำเนินการโครงการนี้จริงๆ ไม่ใช่หาทางออกและการที่หลายหลายคนบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ อยากให้ทุกฝ่ายตรวจสอบได้ รัฐบาลจึงดำเนินการให้มี พรบ. ให้สภาสามารถตรวจสอบได้ ต้องให้เกียรติทุกภาคส่วน
“ไม่มีอะไรที่ทำแล้วทุกคนพอใจ แต่ต้องพยายามทำเพื่อประชาชน วันนี้เรื่องของการหาเสียงจบไปแล้ว ถึงเวลายกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และจะพยายามทำให้ดีที่สุด”

ที่มา : สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว