เปิดประวัติทำความรู้จัก เฉลิมชัย ศรีอ่อน ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนใหม่! ผลงานด้านการเมืองมีอะไรบ้างไปดูเลย
วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ จัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2566 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ โดยที่ประชุมเสนอชื่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ได้รับเลือกลงมติเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 เพียงคนเดียว โดยในที่ประชุมมีมติคะแนนเห็นชอบถึง 88.5 เปอร์เซ็นต์ จึงส่งผลให้ “เฉลิมชัย” ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่

โดย นายเฉลิมชัยแสดงวิสัยทัศน์ ว่า ตนรู้ว่าการตัดสินใจวันนี้มันเจ็บ มันทำลายสิ่งที่ตนสร้างมาทั้งชีวิต ตนคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อสักครู่ ตนกรีดเลือดออกมาก็เป็นสีฟ้า ไม่มีสีอื่นเลย ตลอดระยะเวลาที่ตนอยู่ประชาธิปัตย์ยึดหลักการ และอุดมการณ์ของพรรคไม่เคยเปลี่ยนแปลง เมื่อตนมาเป็นรัฐมนตรี พรรคให้โอกาส ตนยืนยันเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต กล้าพูดว่า ไม่มีมลทิน ตนอยู่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล้าท้าข้าราชการให้ตรวจสอบ เพราะตนไม่ได้ไปในนามของตระกูลศรีอ่อน ตนไปในนามพรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ก็เช่นเดียวกัน วันนี้ถึงตนจะมีแต่วิญญาณ แต่ตนยังมีความสำนึกในพระคุณ ในทุกอย่างที่เป็นประชาธิปัตย์ ที่ทำให้ตนมีโอกาส
“ผมมีความจำเป็นครับ และผมก็อยากจะเห็นพรรคเดินไปข้างหน้า ผมจะทำทุกอย่างให้พรรคมีเอกภาพ ผมจะทำให้พรรคซึ่งมีอยู่แล้วนี้ ยึดมั่นในหลักการและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญเมื่อสักครู่ที่ผมคุยกับท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ก็คือ ผมยืนยันกับหัวหน้าอภิสิทธิ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่” นายเฉลิมชัย กล่าว
- ค่าแรงขั้นต่ำ ปรับขึ้นใหม่ 2567 พื้นที่จังหวัดไหน ได้เท่าไร เช็กเลย
- ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นายก เศรษฐา ขึ้นน้อยเกินไป ชี้ ไม่สบายใจอย่างมาก
- สรุปให้ คดีเจ้าของร้านทองยิงโจรดับ โดนตั้งข้อหายายามฆ่า คดีสิ้นสุดแล้ว
เปิดประวัติ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เกิด 7 มีนาคม พ.ศ. 2508 มีชื่อเล่นว่า “ต่อ”
-สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี
-ระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
-ระดับปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขานโยบายและการวางแผน จากมหาวิทยาลัยเกริก
-ระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

เริ่มต้นเส้นทางการเมืองโดยการเป็นสมาชิกสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ส.จ.) ในปี พ.ศ. 2533 – 2543 เป็นประธานสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (พ.ศ. 2538 – 2540) และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ครั้งแรกในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 และได้รับการเลือกตั้งต่อมาในปี พ.ศ. 2548, พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2554
ต่อมา ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคกลาง ต่อมาในการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เขาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแทนไพฑูรย์ แก้วทอง
ลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยแพ้ให้กับพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ จากพรรคเพื่อไทย ไปเพียง 106 คะแนน หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้ลาออกจากตำแหน่ง ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ซึ่งในวันที่ 15 พฤษภาคม ปีเดียวกัน สมาชิกพรรคก็ได้ลงมติให้เฉลิมชัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการของพรรค
ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 ประธานกรรมการในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร