ปิยบุตร สงสัยทำไมสภาผู้แทนราษฎรไม่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยส.ส.

นาย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul ระบุว่า ทำไมสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจึงไม่มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดย ส.ส.

เพื่อไทย แถลงแนวทางแก้ไข รัฐธรรมนูญ เตรียมร่างแก้ไขเพิ่มเติมหลายประเด็น

ทำไมสภาผู้แทนราษฎรไม่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ? ทำไมมีแต่ญัตติเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ? ทำไมมีแต่อภิปรายรับทราบรายงานจากหน่วยงานต่างๆ?

ส.ส. ไปอยู่ที่ไหน มัวแต่ทำแต่เรื่องอะไรกัน? ทำไมไม่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ? หาเสียงกันมามากมาย สุดท้าย ส.ส.ไปทำอะไรบ้าง ไม่เห็นเสนอเป็นร่างกฎหมายเข้าสภาเลย?

จตุพร เชื่อ ปล่อยตัวอานนท์-ไมค์ มีอะไรแอบแฝงเบื้องหลัง ฝากคนรุ่นใหม่กำหนดชะตากรรม

เปิดเผยรายชื่อ 23 กบฏรัฐบาล ร่วมลงชื่อญัตติ ปิดสวิตช์ส.ว.

สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 นี้ ผ่านมาปีกว่าแล้ว ไม่เห็นมีพระราชบัญญัติสำคัญๆออกมาเลย? สุดท้ายมีสภาผู้แทนราษฎรไว้ทำไม?

ตกลงแล้วสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ตรากฎหมายจริงหรือ?

คำถามเหล่านี้ ผมได้ยินได้ฟังบ่อยครั้งมาก ทั้งในวงเสวนา ทั้งในการพบปะกับพี่น้องประชาชน และทั้งในการแสดงความคิดเห็นทางสังคมออนไลน์

จริงๆ แล้ว ส.ส. จำนวนมาก หลายพรรคการเมือง ก็พยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่มีความคืบหน้า ล่าช้า ไม่ถูกนำมาพิจารณา

ส.ส. #พรรคอนาคตใหม่ ในวันก่อน ส.ส. พรรคก้าวไกลในวันนี้ ก็เสนอร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่การพิจารณาจำนวนมากตามนโยบายที่รณรงค์หาเสียงไว้ เช่น ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. (ผมยกร่างเอง และลงชื่อเสนอสมัยที่ยังเป็น ส.ส. ร่วมกับเพื่อน ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ และเป็นร่าง พ.ร.บ. ฉบับแรกที่ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่เสนอสู่สภา แต่จนวันนี้ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นญัตติในสภา) ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ร่าง พ.ร.บ. “สมรสเท่าเทียม” ร่าง พ.ร.บ. “สุราก้าวหน้า” ร่าง พ.ร.บ. แก้ไข พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฯลฯ

แต่ทั้งหมดยังไม่มีการนำมาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ ยังมีร่าง พ.ร.บ. อีกจำนวนมากที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลเตรียมเสนอ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ร่าง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกความผิดอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ฯลฯ

ซึ่งทั้งหมดนี้ กว่าจะได้พิจารณาเผลอๆ อาจไม่ทันอายุสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ !!!

จนถึงวันนี้ ยังไม่มีร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดย ส.ส. ได้รับการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรเลยแม้แต่ฉบับเดียว

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?

ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดย ส.ส. รวม 5 ประการ

ประการแรก การตีความรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 วรรคสอง จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการเสนอร่าง พ.ร.บ.โดย ส.ส.

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 วรรคสอง บัญญัติว่า

“ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กําหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป”

ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี จะดำเนินการยกร่างโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นนั้น ทางสำนักงานฯ ได้จัดช่องทางผ่านเว็บไซต์ ซึ่งดำเนินการเช่นนี้มาหลายปีแล้ว

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และมีการเลือกตั้ง ส.ส. จึงเกิดปัญหาว่า ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดย ส.ส. นั้น จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนหรือไม่? และหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น?

แนวทางการปฏิบัติของสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่าเมื่อ ส.ส. 20 คนขึ้นไปเสนอร่าง พ.ร.บ.ใดแล้ว ต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสียก่อนจึงจะบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมของสภาได้

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่เคยทำหน้าที่นี้มาก่อน กว่าจะหารือและตกลงกันว่าจะใช้วิธีการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานฯ ก็กินเวลาหลายเดือน กว่าจะจัดทำเว็บไซต์สำหรับรับฟังความคิดเห็นก็อีกหลายเดือน และกว่าจะรอให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นก็ใช้เวลาอีกหลายเดือน

(ซึ่งจากสถิติมีประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นไม่มากนัก เว้นแต่พรรคการเมืองที่ ส.ส. ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.สังกัด ได้ช่วยประชาสัมพันธ์ จึงมีประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ดังที่ปรากฏให้เห็นจากร่าง พ.ร.บ. “สมรสเท่าเทียม” ที่พรรคก้าวไกลนำมารณรงค์ผ่านทางโซเชียล มีเดีย จนมีประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นมากเป็นสถิติ) รวมเวลาทั้งหมด กินเวลาไปเกือบปีกว่าจะได้บรรจุร่าง พ.ร.บ. ที่ ส.ส. เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ

นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่ญัตติร่าง พ.ร.บ. ที่ ส.ส. เสนอ ยังไม่เคยพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรเลย

แล้วการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อร่าง พ.ร.บ. ที่ ส.ส. เสนอ ต้องเป็นขั้นตอนบังคับก่อนอันขาดเสียมิได้ในกระบวนการนิติบัญญัติอย่างนั้นหรือ?

หากพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 77 ซึ่งอยู่ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งไม่ได้เป็นบทบัญญัติบังคับให้รัฐต้องทำ แต่เป็นเพียงแนวทางให้รัฐดำเนินการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น

นอกจากนี้ สมาชิกผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน รับอาณัติจากประชาชนมาดำเนินการตามที่ได้รณรงค์หาเสียงเอาไว้ ดังนั้น การที่ ส.ส. เข้าชื่อ 20 คนขึ้นไปเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. ตามแนวทางที่หาเสียงเอาไว้ ก็เสมือนรับฟังความเห็นจากประชาชนมาแล้ว และอาจมีน้ำหนักและจริงจังมากกว่าการจัดให้มีการรับฟังความเห็นที่เหมือน “พิธีกรรม” ที่ทำไปให้ครบถ้วนแบบที่กำลังทำกันอยู่เสียอีก

กลับกลายเป็นว่า การกำหนดขั้นตอนการรับฟังความเห็นของประชาชนที่กำลังทำกันอยู่นี้ แทนที่จะเป็นช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กลับกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ร่าง พ.ร.บ. ที่ ส.ส. เสนอ (ตามแนวทางที่หาเสียงไว้ และประชาชนให้ความไว้วางใจ อยากให้มาผลักดันกฎหมายเหล่านี้ จึงได้ยอมลงคะแนนเลือกตั้งให้) กลับถูกนำมาพิจารณาอย่างล่าช้า

ประการที่สอง การไม่กำหนดวันประชุมที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยเฉพาะเท่านั้น

ในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรจัดประชุมทุกวันพุธและวันพฤหัสบดี ในบางกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรมีดำริให้นัดประชุมเพิ่มเติมในวันศุกร์ด้วย โดยการประชุมในแต่ละวันนั้น มีวาระปรึกษาหารือ วาระกระทู้ถามสด วาระกระทู้ถามทั่วไป วาระรับทราบรายงานจากหน่วยงานต่างๆ และวาระพิจารณาญัตติ

ในส่วนของการเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้น ต้องกระทำเป็นญัตติ เมื่อ ส.ส. 20 คนขึ้นไปเสนอร่างพระราชบัญญัติ ก็จะถูกบรรจุเข้าเป็นญัตติ โดยเรียงลำดับก่อนหลังตามเวลา ญัตติใดมาก่อน ก็จะอยู่ลำดับต้น ญัตติไหนมาทีหลัง ก็จะต่อท้ายกันไป

ปัญหามีอยู่ว่า ส.ส. เสนอญัตติกันจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ประกอบกับญัตติร่าง พ.ร.บ. ที่ ส.ส. เสนอนั้น กว่าจะผ่านด่าน “รับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77” ก็ใช้เวลานาน เมื่อผ่านแล้ว ก็ต้องมาต่อแถวญัตติอื่นๆ

ปัจจุบันนับถึงวันที่ 10 กันยายนนี้ มีญัตติค้างพิจารณาอยู่ถึง 151 ญัตติ โดยญัตติที่เป็นร่าง พ.ร.บ. ญัตติแรกนั้น อยู่ในลำดับที่ 92 แม้ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะมีดำริให้นัดประชุมเพิ่มในวันศุกร์ของบางสัปดาห์เพื่อเคลียร์ญัตติค้างพิจารณา แต่เมื่อดูจากจำนวนญัตติที่มากเช่นนี้ ก็มีโอกาสที่ร่าง พ.ร.บ. ที่ ส.ส. เสนอ จะถูกพิจารณาครั้งแรกก็คงต้องข้ามไปปีหน้า และร่าง พ.ร.บ. ที่ ส.ส. เสนอบางฉบับ อาจไม่ได้พิจารณาในอายุสภา 4 ปีนี้ด้วยซ้ำ

วิธีแก้ทางหนึ่งก็คือกำหนดให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ ต้องพิจารณาญัตติร่าง พ.ร.บ. เท่านั้น หากทำเช่นนี้ ก็รับประกันได้ว่า ในทุกสัปดาห์จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.

ประการที่สาม ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี “มาก่อน” ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดย ส.ส. เสมอ

แนวทางที่ปฏิบัติกันอยู่ในเวลานี้ ก็คือ ร่าง พ.ร.บ. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอจะได้เป็น “ญัตติด่วน” เสมอ เมื่อเป็นญัตติด่วน ก็หมายความว่าจะถูกเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนญัตติที่ค้างพิจารณาอื่นทั้งหมด ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. ที่ ส.ส. เสนอเป็นญัตติธรรมดา ต้องต่อแถวตามลำดับ ไม่สามารถ “แซงคิว” ญัตติอื่นได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีต้องการผลักดันจะได้โอกาสพิจารณาก่อนร่างกฎหมายที่ ส.ส. ต้องการผลักดันทุกครั้ง

ร่างกฎหมายที่ ส.ส. ต้องการผลักดันจะมีโอกาส “แซงคิว” ได้มีอยู่หนทางเดียว คือรอลุ้นว่าคณะรัฐมนตรีจะเสนอร่างกฎหมายทำนองเดียวกันเข้ามาหรือไม่ ถ้าคณะรัฐมนตรีเสนอเข้ามาและเป็นญัตติด่วนแซงคิวขึ้นมาแล้ว จึงค่อยมีโอกาสขอเลื่อนญัตติร่างกฎหมายที่ ส.ส. เสนอใกล้เคียงกันขึ้นมาพิจารณาพร้อมกันในคราวเดียว

เช่นนี้แล้ว ก็เท่ากับว่าสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก และเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็เป็นฝักฝ่ายเดียวกันกับคณะรัฐมนตรี

ปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้กระบวนการนิติบัญญัติของประเทศไทยถูกผูกขาดกำหนดโดยฝ่ายบริหาร จนกลายเป็นฝ่ายบริหารครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติ

ประการที่สี่ ร่างพระราชบัญญัติที่เป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน ต้องให้นายกรัฐมนตรีรับรองเสมอ

รัฐธรรมนูญกำหนดให้การเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีก็ด้วยเหตุผลที่ว่านายกรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหารย่อมทราบถึงสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ จึงจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินหรืองบประมาณนั้นเหมาะสมหรือไม่อย่างไร

อย่างไรก็ตาม การกำหนดไว้เช่นนี้ก็นำมาซึ่งปัญหา กรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ร่างพระราชบัญญัติเหล่านั้นจะได้เข้าสู่การพิจารณาหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว หากนายกรัฐมนตรีไม่ลงนามรับรอง ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตกไปทันที กลายเป็นว่า นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวมีอำนาจสกัดขัดขวางร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินที่เสนอโดยผู้แทนประชาชนและประชาชนได้

เมื่อพิจารณานิยามของ “ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน” ในมาตรา 134 ประกอบกับแนวทางการตีความที่ผ่านมาในอดีต ทำให้มีโอกาสมากที่ร่างพระราชบัญญัติในหลายเรื่องเข้านิยามของร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็แทบไม่มีโอกาสเสนอร่างพระราชบัญญัติใดเข้าสู่การพิจารณาของสภาเลย

ประการที่ห้า วุฒิสภา “ขี่คอ” สภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ

โดยหลักแล้ว การเสนอร่างพระราชบัญญัติ จะเริ่มจากการเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสียก่อน แล้วค่อยไปวุฒิสภา แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 270 กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ต้องเสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ดังนั้นหากคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ในนโยบายของตนว่า มีกฎหมายใดเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศบ้าง การเสนอร่างกฎหมายเหล่านั้นก็จะเข้าช่อง “ฟาสท์แทร็ค” ขึ้นทางด่วน ได้รับการพิจารณาก่อนและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

ข้อสังเกตทั้ง 5 ประการนี้ ทำให้บทบาทของ ส.ส. ในการตรากฎหมาย ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่และบทบาทหลักของ “ผู้แทนราษฏร” ลดน้อยถอยลงไป จนแทบไม่มีให้เห็น

ส.ส. จะมีโอกาสพิจารณาร่างกฎหมาย ก็ต้องรอให้มีร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเสนอเข้ามา

ส.ส. จะมีโอกาสผลักดันร่างกฎหมายตามแนวทางที่หาเสียงไว้ในการเลือกตั้ง ก็ต้องติดขั้นตอน “มาตรา 77” และรอต่อแถวญัตติจนครบ 4 ปีก็อาจไม่มีโอกาสพิจารณาเลย

ส.ส. จะมีโอกาสผลักดันร่างกฎหมาย ก็ต้องยกร่างหลบเลี่ยงไม่ให้เป็น “กฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน” ให้ได้ หากไม่ได้ ก็ต้องรอ “เมตตา” จากนายกรัฐมนตรีให้ลงนามรับรองให้

นี่หรือ คือบทบาทและอำนาจของ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร” ผู้มาจากการเลือกตั้งของราษฎรและเป็น “ผู้แทน” ของราษฎร?

เหตุใดจึงมีอุปสรรคขัดขวางในการทำหน้าที่นิติบัญญัติมากมาย

หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ประชาชนก็ตั้งคำถามว่า ส.ส. ไปไหน ทำไมไม่ออกกฎหมาย ทำไมในสภา ไม่มีการออกกฎหมายเลย นานวันเข้า คนก็สิ้นหวังกับสภาผู้แทนราษฎร

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังเกิดขึ้นนี้ นอกจากพูดกันเรื่องยกเลิก ส.ว. เรื่ององค์กรอิสระ เรื่องศาล เรื่องระบบเลือกตั้ง ฯลฯ แล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาด้วย คือ การออกแบบกระบวนการนิติบัญญัติที่สนับสนุนให้ ส.ส. ทำงานได้ ตลอดจนการเสริมสร้างบทบาทของ ส.ส. และฝ่ายค้าน

ในฐานะที่ผมเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ผมได้ทำรายงานความเห็นส่วนตนไว้ มีหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องเหล่านี้ด้วย สามารถอ่านได้ในหน้า 8-12 : https://bit.ly/3bEQ5uo

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด

ผิดแค่ไหน! พ่อค้าร้านขาหมูประกาศหยุดขาย หลังถูกร้องเรียนเสียงดัง

พ่อค้าร้านข้าวประกาศ หยุดขายขาหมู หลังเพื่อนบ้านร้องเรียน สับหมูรบกวนเสียงดัง ล่าสุดเทศบาลนัด 2 ฝ่ายไกล่เกลี่ยพรุ่งนี้

สพฐ. แจงปม ผอ.โรงเรียนหวงเก้าอี้ ที่ร้อยเอ็ด ชี้! ผิดวินัยไม่ร้ายแรง

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เผยผลสรุป ผอ.โรงเรียนหวงเก้าอี้ พบผิดวินัยไม่ร้ายแรง เตรียมลงดาบทางวินัย แต่ให้โอกาสปรับปรุงตัว

ณเดชน์ ใจวูบ! หลังเห็นกระแสข่าว เลื่อนงานแต่ง พร้อมขอโทษ ญาญ่า

ณเดชน์ คูกิมิยะ ถึงกับใจวูบ! หลังเห็นกระแสข่าว เลื่อนงานแต่ง บานปลายสร้างความเข้าใจผิด พร้อมขอโทษ ญาญ่า อุรัสยา

แชร์สนั่น! “ซีอิ๊วขาวแบบเม็ด” นวัฒกรรมใหม่เด็กสมบูรณ์ พกง่าย ละลายเร็ว

ชาวเน็ตอึ้ง! เด็กสมบูรณ์เปิดตัว “ซีอิ๊วขาวแบบเม็ด” นวัฒกรรมใหม่ ของซีอิ๊วขาว มาพร้อมกับสโลแกน พกสะดวก ละลายไวใน 5 วินาที

ป๊ายปาย โอริโอ้ โพสต์ยินดี สมรสเท่าเทียมผ่าน เผยเป็นวันที่รอคอยมานาน

ป๊ายปาย โอริโอ้ โพสต์ข้อความร่วมยินดี เมื่อสมรสเท่าเทียมผ่านครม. พร้อมเผยเป็นวันที่รอคอยมานานมาก โลกเปิดกว้าง ไม่จำกัดเพศ
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า