ประยุทธ์ นายกฯรมว.กลาโหม เตรียมนั่งหัวโต๊ะ จ่อถกศบค.ชุดใหญ่ เล็งลดวันกักตัว ประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น
ความเคลื่อนไหวสถานการณ์ โควิด-19 ที่ทำท่าจะส่อแววผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ในช่วง เดือนกันยายน 2565 จนทาง กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประสานสั่งการสถานพยาบาล เตรียมความพร้อมเรื่องเตียง ยา และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด -19 ระลอกใหม่ รวมถึงผู้เชียวชาญทางการแพทย์ ได้แนะนำประโยชน์ของการสวมหน้ากากอนามัย ที่ยังจำเป็นนั้น

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม เตรียมเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ในวันที่ 8 ก.ค.65 ที่จะถึงนี้
คาดว่า ในที่ประชุมจะมีการหารือทั้งจากกรมควบคุมโรค ที่เตรียมเสนอ ลดการกักตัวผู้ป่วยโควิด-19 เหลือ 5+5 จากเดิมกำหนดให้มีการกักตัว 7+3 วัน (กักตัว 7 วัน และสังเกตอาการ 3 วัน)
รวมถึงอาจมีการเสนอการพิจารณาแผนให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ ศบค.พิจารณา ซึ่งในที่ประชุมจะมีการประเมินสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อพิจารณาผ่อนคลายสถานการณ์โควิด ต่อไป

ขณะที่ด้านการเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวต่างชาติ ในที่ประชุมศบค.คาดว่า เตรียมจะมีการหารือการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าประเภทท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า สถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ แม้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงในบางพื้นที่ ขอประชาชนอย่าได้กังวล เน้น ปฏิบัติตามมาตรการของทางสาธารณสุข ป้องกัน ระวังตนเองเมื่อต้องใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง และเข้ารับวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นในประชาชนทุกกลุ่มอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี มั่นใจระบบสาธารณสุขมีความพร้อมดูแลผู้ป่วย ยืนยันว่า รัฐบาล และศบค. พร้อมสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากเกิดการแพร่ระบาดในอนาคตขึ้น

ส่วนมาตรการ กระทรวงสาธารณสุข เห็นควรแจ้งสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมนั้นมี ดังนี้
1 สื่อสารให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับทราบสถานการณ์ และผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการและระมัดระวังป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ (Universal Precaution)
2 สำรวจและเตรียมความพร้อมด้านยา เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เพื่อสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3 เตรียมความพร้อมในการสำรองเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยรวมทั้งผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
4 เตรียมความพร้อมและซักซ้อมระบบการส่งต่อผู้ป่วย
5 เร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับบุคลากร รวมทั้งประชาชนอย่างครอบคลุม และเป็นไปตามความสมัครใจ
6 ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อ
7 บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อวางแผนในการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาด
8 รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าวอื่นเพิ่มเติม
ประยุทธ์ ลั่นไทยคุมโควิดได้ แม้ส่อระบาดหนักอีกระลอก สธ.สั่งเตรียมเตียง ยา
พี่น้องกัน! ชัยวุฒิ เคลียร์ใจชัชชาติ ปมแขวะ PR เก่งกว่ารัฐบาล ชี้สื่อตีความไปเอง
ประยุทธ์ สั่งดูแลพนักงาน JSL เลิกจ้างไม่เป็นธรรม เผยเงิน 16% ได้รับคนละกี่บาท