วันที่ 19 ธ.ค. 63 รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล โพสต์ถึงการใช้กฎหมายมาตรา 112 ต่อผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยระบุว่า สถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและการคุกคามประชาชนในเวลานี้ที่ต้องจับตามองมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกรณีการระดมแจ้งข้อหากันเป็นขนานใหญ่กับบุคคลผู้แสดงออกทางการเมืองหรือมีส่วนร่วมกับการชุมนุมทางการเมือง ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ห้ามหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยในบรรดาผู้ถูกแจ้งข้อหานั้นรวมไปถึงเยาวชนอายุ 16 ปี, ผู้ที่ปราศรัยเพียงแค่วิจารณ์ปัญหาของตัวมาตรา 112 เอง และผู้ที่สนับสนุนการชุมนุมแต่ไม่ได้ปราศรัย
ยูเอ็น ตกใจ! เยาวชนวัย 16 โดนข้อหา ม.112 ร้องไทยแก้กม. หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
วิโรจน์ ชี้ รัฐปล่อยใช้ ม.112 มั่ว จนยูเอ็นเตือน กระทบชื่อเสียงประเทศ
ตั้งแต่อดีตในช่วงกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา การใช้มาตรา 112 ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาอันใหญ่หลวงของตัวกฎหมายดังกล่าวใน 3 ประการด้วยกัน ได้แก่
- การเปิดให้บุคคลใดๆ ก็ตามสามารถเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อบุคคลอื่นได้ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเฉพาะพนักงานอัยการหรือหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น
- การตีความความผิดที่กว้างขวางจนเกินเลยไปกว่าเพียงการกระทำต่อบุคคล 4 ประเภทที่ระบุไว้ในตัวกฎหมายเอง เช่น การดูหมิ่นสุนัขทรงเลี้ยง, การไม่ยืนในโรงภาพยนตร์ขณะเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี หรือการบรรยายสภาพสังคมในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งการตีความกว้างขวางนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ในระดับของเจ้าหน้าทีตำรวจที่รับแจ้งความ ไปจนถึงศาลที่พิพากษาคดี
- การกำหนดโทษที่รุนแรง คือโทษจำคุก 3 – 15 ปี ทำให้แม้กระทั่งกรณีเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องเผชิญกับโทษจำคุกไปแล้วอย่างน้อยถึง 3 ปี โดยที่ผ่านมาศาลยุติธรรมมักกำหนดโทษที่กรรมละ 5 ปี ส่วนศาลทหารอาจกำหนดโทษสูงถึงกรรมละ 10 ปี
ทั้ง 3 ประการนี้ทำให้มาตรา 112 กลายเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการใช้ทำลายล้างบุคคลที่เห็นต่างในทางการเมือง โดยเฉพาะบุคคลที่แสดงตนว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ มักถูกแจ้งข้อหาเพื่อให้เกิดภาระในทางคดี แม้สุดท้ายศาลจะยกฟ้องแต่อย่างน้อยก็ต้องเสียเงิน เสียเวลา เสียสุขภาพจิตจากการต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นประจำ
มาตรา 112 มีปัญหาแน่ๆ แต่มากไปกว่าตัวบทกฎหมาย ผมอยากให้ลองคิดทบทวนถึงหลักการที่ถูกต้องที่ควรจะเป็นด้วยว่าพระมหากษัตริย์ก็เป็นหนึ่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติในฐานะประมุขของประเทศ การประพฤติตนและการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ในแต่ละครั้งย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศหรือกระทบต่อชีวิตของประชาชน และย่อมมีผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแต่ละการกระทำนั้นๆ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เฉกเช่นเดียวกับที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ หรือองค์กรอิสระก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เป็นเนืองนิจ
รัฐ สวนยูเอ็น ใช้ม.112 ปราบม็อบ เพราะทำผิดกม.ชัดเจน เตือนระวังเจอคดีอื่นอีก
นอกจากนี้ การหมิ่นประมาทหรือกระทำการด้วยวาจา แม้กระทั่งกับการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ก็ไม่ควรเป็นความผิดที่ต้องมีโทษถึงขนาดจำคุก เพราะที่ผ่านมามันได้นำไปสู่การฟ้องคดีโดยผู้มีอิทธิพลทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อปิดปากชาวบ้านคนตัวเล็กตัวน้อยที่เดือดร้อนจากผู้มีอิทธิพลเหล่านั้น เราไม่ควรยอมรับให้ใครต้องสูญเสียอิสระภาพ ถูกจับกุมคุมขัง เพียงเพราะการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ผมจึงเห็นว่าควรยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งมีปัญหาในประการที่ได้กล่าวไปเสีย แล้วเปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถรับรู้ได้อย่างแจ่มชัดว่ามีประชาชนเห็นชอบหรือเห็นค้านต่อการประพฤติตนและการใช้อำนาจแต่ละครั้งมากน้อยเพียงใด มีสิ่งใดบ้างเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สมควรดำเนินต่อไป สมควรปรับปรุงแก้ไข หรือสมควรยุติลง เมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับข้อคิดเห็นที่ชัดเจนจากประชาชนแล้ว ก็จะสามารถพัฒนาปรับปรุงต่อไปให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
ทั้งนี้หากข้อคิดเห็นของประชาชนเกิดจากความไม่รู้หรือเข้าใจผิด ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบ หากมีการกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริงจนเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงยิ่งยวด ก็ให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ดำเนินการฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย (แต่จะต้องมีการตรวจสอบและกลั่นกรองอย่างเข้มงวด มิใช่ระดมฟ้องไม่เลือกหน้าอย่างในปัจจุบัน) หรือหากมีการขู่ประทุษร้าย ก็ให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงว่ามีมูลหรือไม่ เนื่องจากยังมีกฎหมายห้ามประทุษร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์อยู่
หมดยุคสมัยของการใช้ความกลัวมาปิดปากแล้ว มาตรา 112 มีแต่จะทำให้พระมหากษัตริย์ยิ่งเสื่อมเสียจากการถูกนำไปเป็นข้ออ้างในการทำลายล้างผู้เห็นต่าง วิธีการที่ดีที่สุดที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์คือการปกป้องด้วยความจริง ดังที่นานานอารยประเทศราชอาณาจักรต่างก็พากันยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปหรือไม่ใช้ในทางปฏิบัติ หากเราออกแบบระบบกฎหมายที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถอดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ ยอมรับข้อผิดพลาด ปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาต่อไปได้แล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยก็ย่อมสามารถยืนหยัดท่ามกลางกระแสแห่งยุคสมัยได้อย่างสง่างาม สมกับเป็นประมุขของประเทศนี้ครับ
