ดร.พิสิฐ ประชาธิปัตย์ เสนอ รัฐบาล ปรับกฎเกณฑ์นโยบายราคาพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน โดยที่ไม่กระทบฐานะการคลัง
วันที่ 18 ตุลาคม 2566 ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอปรับกฎเกณฑ์นโยบายราคาพลังงาน ที่ไม่กระทบฐานะการคลังหรือสร้างหนี้สาธารณะ โดยระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานสูงมากเทียบเท่าน้ำมันดิบเกือบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง มีการปรับราคาน้ำมันบ่อยครั้ง โดยตั้งแต่เดือนแรกรัฐบาลประกาศลดราคาน้ำมันดีเซลลง 2.50 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาขายไม่เกิน 30 บาท และยังมีความพยายามจะประกาศลดราคาน้ำมันเบนซินแต่ยังไม่เกิดขึ้น แต่การลดราคาน้ำมันที่ผ่านมาเป็นการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ทำให้เกิดภาระทางการคลัง รัฐบาลขาดดุลเงินสดมากขึ้น ขณะที่ไม่ได้เป็นการปรับหรือทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันให้เหมาะสมเป็นธรรม สำหรับค่าไฟฟ้ารัฐบาลมีการปรับลด 2 ครั้ง รวม 46 สตางค์ จากหน่วยละ 4.45 บาท เหลือ 3.99 บาท ซึ่งราคาที่ลดลงนี้ก็ไม่ได้เกิดจากการปรับโครงสร้างเช่นกัน แต่เกิดจากการยืดหนี้ที่ต้องจ่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกไป

ซึ่ง พรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วยกับการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน แต่มาตรการลดค่าพลังงานของรัฐบาลในเดือนที่ผ่านมา เป็นการแก้ปัญหาที่ฉาบฉวย ทั้ง 2 มาตรการ ที่ประกาศไป เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของฐานะการคลังและสร้างหนี้สาธารณะ เป็นการผลักภาระให้ประชาชนในอนาคต ดังนั้นจึงขอเสนอการปรับกฎเกณฑ์นโยบายราคาพลังงาน ที่จะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิด ลดลงได้ทันทีอย่างน้อย 1.20 บาทต่อลิตร และลดค่าไฟฟ้าลงได้ 60 สตางค์ต่อหน่วย ดังนี้
ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ขอให้ยกเลิกแนวคิด import parity ที่ผูกสูตรคำนวณราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น ที่ใช้มาประมาณ 50 ปี โดยมีหลักคิดจากสภาพในอดีตที่ไทยมีโรงกลั่นเพียงแห่งเดียวและต้องพึ่งพาสิงคโปร์ในการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป จึงมีการคำนวณราคาน้ำมันที่อิงกับตลาดสิงคโปร์และบวกด้วยค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อกำหนดราคาในประเทศ รัฐบาลโดยคณะกรรมการการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะประกาศกำหนดปัจจัยและราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งเหตุผลที่ต้องยกเลิก เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปจนมีเหลือใช้ภายในประเทศต้องส่งออก ไม่จำเป็นต้องมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันโรงกลั่นของไทยมีถึง 6โรง และผลิตได้วันละ 1.25 ล้านบาร์เรล โรงกลั่นแห่งหนึ่งก็มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตอีกวันละ 2.5 แสนบาร์เรล การผลิตน้ำมันในประเทศไทยจะมีกำลังไม่น้อยไปกว่าสิงคโปร์ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศแต่อย่างใด ขณะที่สูตรดังกล่าวใช้ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยของสิงคโปร์ (MOPS= Mean oil prices by Platts in Singapore) บวกด้วยปัจจัยต่างๆ ที่สามารถยกเลิกจากการคำนวณ ตามรายละเอียดดังนี้
1.ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มอีก 0.46 บาทต่อลิตรสำหรับเบนซิน และเบนซินโซฮอล์เพิ่มขึ้นอีก 0.14-0.35 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลไม่มีค่าปรับคุณภาพ ปัจจุบันน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่นในไทยได้มาตรฐาน EURO-5 อยู่แล้ว จึงไม่ควรต้องให้ค่าปรับคุณภาพน้ำมันแต่ประการใด
2.ค่าขนส่งน้ำมันจากท่าเรือสิงคโปร์ ถึงท่าเรือแหลมฉบัง เฉลี่ย 0.45 บาทต่อลิตร ซึ่งในรอบสิบปีที่ผ่านมาไทยไม่มีการขนน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์มาขายในประเทศไทยแต่อย่างใด
3.ค่าขนส่งทางท่อน้ำมัน (ศรีราชา มากรุงเทพฯ) อีก 0.15 บาทต่อลิตร ทั้งๆ ที่การขนส่งน้ำมันในประเทศปัจจุบัน ใช้เรือ รถไฟ และรถบรรทุกน้ำมัน เป็นหลัก แม้ว่าจะมีการยกเลิกรายการนี้แต่ก็กลับไปบวกในค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นเป็น ไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร
4.ค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง บวกไปอีก 0.15 บาทต่อลิตร ในทางปฏิบัติสามารถยกเลิกได้ เพราะประเทศไทยมีการผลิตน้ำมันเกินความต้องการอยู่แล้ว หากมีเหตุฉุกเฉินสามารถออกมาตรการระงับการส่งน้ำมันไปต่างประเทศได้อยู่แล้ว
5.ค่าประกันภัย ควรอยู่ในค่าใช้จ่ายของผู้ค้าอยู่แล้ว
6.ค่าสูญเสียจากการปรับอุณหภูมิในการขนส่งจากสิงคโปร์ เพราะไม่มีการขนส่งเกิดขึ้น
โดยรวมแล้ว หากยกเลิกปัจจัยทั้ง 6 ในการคำนวณราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น จะทำให้ประชาชนใช้น้ำมันราคาถูกลง 1.20 บาทต่อลิตรทันที
- ทำความรู้จัก Super App คืออะไร แอปฯที่รัฐบาลจ่อใช้ แจกเงินดิจิทัล
- นายก ยัน แรงงานไทยในอิสราเอล ดับเพิ่ม 1 ราย รวมเป็น 30 รายแล้ว
- ราชกิจจาฯ ประกาศ คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 11 แกนนำพันธมิตรฯ
ราคาที่ลดลง 1.20 บาท ยังไม่รวมการทบทวนค่าการตลาด ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2.0 บาทต่อลิตร ซึ่งจาก ข้อเท็จจริงพบว่าค่าการตลาดในรอบปี 2565 ถึงปัจจุบันยังสูงกว่าที่รัฐบาลกำหนด หากมีการควบคุมราคาการตลาดอย่างจริงจังให้ไม่เกิน 2 บาทต่อลิตรได้แล้ว จะลดราคาน้ำมันโดยเฉพาะเบนซินลงได้อีก ไม่ต่ำ 2 บาท โดยไม่จำเป็นต้องไปกระทบฐานะการคลังหรือสร้างหนี้ในกองทุนน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันยังมีหนี้สินสุทธิ กว่า 68,327 ล้านบาท (8 ต.ค. 66) นอกจากนี้เพื่อให้โครงสร้างราคาน้ำมันมีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการแข่งขันเสรีอย่างแท้จริงในตลาดน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากจะมีน้ำมันสำเร็จรูปล้นตลาดในประเทศ รัฐบาลจะต้องไม่ยอมให้มีการผูกขาดหรือฮั้วราคาขายปลีก แต่ยังดูแลให้ราคาไม่เอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไปโดยมี ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูป (MOPS) ที่ตลาดสิงคโปร์ เป็นตัวเทียบเคียงแต่ไม่ใช้เป็นมาบวกค่าใช้จ่ายข้างต้นเพื่อกำหนดราคา ณ โรงกลั่นอย่างที่ทำในปัจจุบัน

สำหรับการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า สิ่งที่ทำได้และทำได้ทันที และมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง อย่างยั่งยืน คือ ทบทวนโครงสร้างต้นทุนของการนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้า ที่มีสัดส่วนถึง 60% ของต้นทุนทั้งหมด โดยที่แหล่งที่มา มาจากก๊าซในอ่าวไทยสัดส่วนถึง 66% จากแหล่งก๊าซในประเทศเมียนม่า 16% และจากการนำเข้า LNG จากต่างประเทศ 18% ทั้งนี้ในส่วนของก๊าซในอ่าวไทยเนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่าแห่งอื่นๆ รัฐจะต้องกันให้เป็นแหล่งพลังงานเพื่อให้คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง แต่กลับเป็นว่าที่ผ่านมารัฐได้ใช้ราคาตลาดโลกมาคำนวณราคาก๊าซผลิตไฟฟ้าแบบเฉลี่ยเหมารวม ก๊าซจากแหล่งในอ่าวไทย ที่ผ่านมารัฐได้ขายให้แก่กลุ่มทุนระบบปิโตเคมีในราคาที่ถูกมาก หากมีการปรับโครงสร้างการคำนวณราคาขายก๊าซ โดยให้ก๊าซจากอ่าวไทยถือเป็นเชื้อเพลิงในส่วนของ Methane กันให้เพื่อการผลิตไฟฟ้า และส่วนที่ป้อนปิโตรเคมีให้คิดคำนวณราคา Methane จากแหล่งที่ไม่ใข่อ่าวไทยแล้ว จะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงอีกไม่ต่ำกว่า 1.0 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลต้องเดินหน้าอย่างจริงจังในเรื่องการใช้ Solar roof และ ระบบ Net metering ประเทศไทยมีพลังงานแสงแดดมหาศาลที่ไม่ได้มีการนำมาใช้ ปัจจุบันแผงโซล่าเซลส์ที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ก็มีราคาต่ำกว่าในอดีตมาก ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเหลือไม่ถึง 2.0 บาทต่อหน่วย รัฐจึงควรสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งแผงโซลาร์และรับซื้อเข้า grid ในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงยกเลิกการใช้ข้อมูลการพยากรณ์ล่วงหน้า เพื่อกำหนดค่า FT มาเป็นการใช้ตัวเลขจริง
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY