ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล โต้ปมด้อยค่า โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท แค่อยากให้รัฐบาลเอาข้อเท็จจริงมาบอก ปชช.
ยังคงเป็นที่ถกเถียงและหาข้อสรุปไม่ได้ สำหรับโครงการ เงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่ทาง รัฐบาลเศรษฐา หรือรัฐบาลเพื่อไทย นั้นกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งข้อสรุปล่าสุดหลังจากที่ได้มีการประชุมนัด 2 นั้นมีการพูดถึง การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเงื่อนไขการรับเงิน โดยในที่ประชุม แบ่งเงื่อนไขออกเป็น 3 ข้อ แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้เป็นตัวเลือกขั้นสุดท้ายเพียงแต่ต้องนำข้อเสนอทั้ง 3 ข้อไปประชุมกันอีกครั้ง
ทาง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้อัปเดตว่า เพื่อให้ตรงกับจุดประสงค์ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการให้คนร่วมมาก ๆ แบ่งเบาภาระประชาชน จึงเสนอให้ตัดคนรวยหรือผู้ที่มีรายได้ดีออก โดยคำจำกัดความยังไม่เป็นที่สรุป แต่กำหนดตัวเลือกไว้ได้แก่
1.ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ยากไร้ โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
2.ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนถึง 25,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากถึง 1 แสนบาทออก
3.ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนถึง 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากถึง 5 แสนบาทออก
ยอมรับโครงการจะดีเลย์จากเดิมวันที่ 1 ก.พ. 67 ซึ่งหากใช้ งบประมาณ 2567 ก็อาจล่าช้าถึง เม.ย.-พ.ค. 2567
ซึ่งแน่นอนว่า โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทนี้ ไม่ได้โดรยด้วยกลีบกุหลาบ ขณะที่จัดทำก็มีนักวิชาการและนักการเมืองหลายคนที่ออกมาแสดงความเห็น หนึ่งในนั้นก็คือ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นั้นเอง ซึ่งจากการวิเคราะห์และวิจารณ์ของ ไหม ศิริกัญญา ทำให้หลายคนมองว่านี้อาจจะเป็นการด้อยค่าหรือดิสเครดิตรัฐบาลหรือไม่
ไหม ศิริกัญญา ยัน ไม่ได้ด้อยค่า
ล่าสุดวันนี้ 28 ตุลาคม 2566 ไหม ศิริกัญญา เองก็ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาพรรคก้าวไกลดิสเครดิต นโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เพียงแต่ได้ย้ำถึงเจตนาต้องการให้รัฐบาลนำข้อมูลข้อเท็จจริง มาแจ้งให้ประชาชนรับทราบ แต่ถ้ารัฐบาลมองว่าเป็นการด้อยค่าดิสเครดิต ก็ต้องขออภัย
แม้รัฐบาลไม่ได้ทำตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ ก็ไม่ถึงขั้นขัดต่อกฎหมาย หรือมีความผิดอะไร หากจะทำขัดต่อรัฐธรรมนูญก็เมื่อรัฐบาลเดินหน้าดำเนินนโยบายต่อในการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ หรือหากจะใช้ธนาคารของรัฐก็ยังติดปัญหาเรื่องของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน แม้รัฐบาลจะแบ่งจ่ายเป็นงวด ต้องใช้งบประมาณผูกพัน 4 ปี ก็ยังขัดต่อ พรบ.เงินตรา
ตนเชื่อว่าหากคณะกรรมการชุดใหญ่ ได้รับฟังเสียงสะท้อนและการคัดค้านจากสังคม ประเมินว่า อาจมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ที่อาจไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์ตามที่คณะอนุกรรมการแจกเงินดิจิทัลเสนอให้พิจารณา 3 เงื่อนไข หรืออาจมีการเสนอขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ ต้องรอความชัดเจน และเข้าใจว่ารัฐบาลกำลังปวดหัวในการหาแหล่งเงินงบประมาณมาใช้กับโครงการนี้ เพราะงบประมาณปกติไม่เพียงพอ
เชื่อว่าสุดท้ายแล้วคณะรัฐมนตรีจะต้องลงมติว่าจะเดินหน้าต่อนโยบายนี้ และจะได้เห็นท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับนโยบายนี้ แต่ส่วนตัวเห็นว่าเมื่อพรรคร่วมได้ร่วมหอลงโรงเดียวกันแล้ว น่าจะเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรคของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะไม่ให้โครงการที่เกิดขึ้น
เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกล และฝ่ายค้านจะนำนโยบายดังกล่าวไปสู่การอภิปรายทั่วไปหรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ นางสาวศิริกัญญากล่าวว่า ขณะนี้นโยบายยังไม่มีความชัดเจน เพราะยังไม่ได้เริ่ม จึงยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ แต่เมื่อโครงการได้เริ่มต้นก็จะดูว่าเกิดปัญหาอะไรบ้าง และพรรคก้าวไกลจะติดตามรายละเอียดอย่างใกล้ชิด พร้อมเสนอแนะไปยังรัฐบาลว่าควรยึด เป้าหมาย เป็นสำคัญมากกว่า วิธีการ ไหม ศิริกัญญา กล่าว

ที่มา : สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY