ผู้ประกันตนมาตรา 40 เฮ! รัฐบาลขยายเวลาลดอัตรา เงินสมทบ ม.40 เหลือร้อยละ 60 เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยมี 3 ทางเลือก
เฟซบุ๊ก ไทยคู่ฟ้า รายงานว่า รัฐบาลขยายเวลาลดอัตราเงินสมทบ ผู้ประกันตน ม.40 เหลือร้อยละ 60 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้ง 3 ทางเลือก ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 42 บ./เดือน จากเดิม 70 บ./เดือน
ทางเลือกที่ 2 ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 60 บ./เดือน จากเดิม 100 บ./เดือน
ทางเลือกที่ 3 ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 180 บ./เดือน จากเดิม 300 บ./เดือน
โดยสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับยังคงเดิม
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ผู้ประกันตนมาตรา 40 หมายถึง บุคคลที่มิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 หรือเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ มาตรา 39 เรียกว่า ผู้ประกันตนโดยอิสระ
คุณสมบัติในการสมัคร
อายุ 15-60 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 ไม่เป็นข้าราชการหรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม บุคคลพิการที่สามารถรับรู้สิทธิประกันสังคม
เฉพาะปีแรก (มีผลบังคับใช้วันที่ 9 ธันวาคม 2556 – วันที่ 8 ธันวาคม 2557) เปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่มีอายุ 60-65 ปี สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้ทุกทางเลือก
สำหรับผู้สมัครที่มีอายุเกินกว่า 65 ปี เฉพาะปีแรก (มีผลบังคับใช้วันที่ 9 ธันวาคม 2556 – วันที่ 8 ธันวาคม 2557) สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้เฉพาะทางเลือก 3 เท่านั้น และไม่มีสิทธิเปลี่ยนทางเลือก

สิทธิประโยชน์พื้นฐาน
กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย เมื่อนอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 30 วันต่อปี เงื่อนไขจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือน (การรักษาพยาบาลใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)
กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 500 – 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลานานถึง 15 ปี เงื่อนไข เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือนขึ้นไป (ต้องเป็นผู้ทุพพลภาพหรือทุพพลภาพเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการ แพทย์)
กรณีตาย จะได้รับค่าทำศพจำนวน 20,000 บาทต่อราย เงื่อนไข จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน ก่อนเสียชีวิต ยกเว้น เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ เงื่อนไข จ่ายเงินสมทบครบ 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเสียชีวิต
กรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จ) ผู้ประกันตนสามารถรับเงินก้อนเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เงื่อนไข มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
กรณีชราภาพ (เงินบำนาญ)
– ผู้ประกันตนสามารถรับเงินบำนาญเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
– ต้องจ่ายเงินสมทบถึงบำนาญขั้นต่ำหรือไม่น้อยกว่า 420 เดือน (35 ปี) ได้รับเงินบำนาญชราภาพขั้นต่ำเดือนละ 600 บาท ตลอดชีวิต
ทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับคุณ
เพื่อสิทธิประโยชน์ดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมขอเสนอทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับคุณด้วยชุดสิทธิประโยชน์ ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 (จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน)
– สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย
ทางเลือกที่ 2 (จ่ายเงินสมทบ 150 บาท/เดือน)
สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จ)
ทางเลือกที่ 3 มี 3 ทางเลือก ดังนี้
ทางเลือกที่ 3 สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 1 กรณี คือ กรณีชราภาพ (เงินบำนาญ)
ทางเลือกที่ 1 และทางเลือก 3 (1+3) สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ (เงินบำนาญ)
ทางเลือกที่ 2 และทางเลือก 3 (2+3) สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จ) กรณีชราภาพ (เงินบำนาญ)