ศิริกัญญา สส.พรรคก้าวไกล ฉะเดือด กสทช. ไม่สนผลกระทบ ควบรวมทรู-ดีแทค ใส่เกียร์ว่าง ทำผู้บริโภครับกรรม แพ็กเกจราคาถูกหาย-สัญญาณห่วย
วันที่ 18 ธันวาคม 2566 มีรายงานว่า นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็น ควบรวมทรู-ดีแทค หลังจากมีรายงานข่าวระบุบอร์ด กสทช. 4 คน ส่งบันทึกข้อความขอให้มอบหมายสำนักงาน กสทช. รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และผลกระทบต่อผู้บริโภคอันเนื่องมาจากคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัญหาอัตราค่าบริการสูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงแพ็คเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติ เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมวันที่ (20 ธ.ค. 66) นี้ เรื่องดังกล่าวชวนให้ประชาชนเกิดความสับสน ว่า บอร์ด กสทช.ออกมาแสดงละครอะไรหรือไม่ เรื่องแค่นี้ควรเป็นอำนาจของบอร์ดอยู่แล้ว เหตุใดจึงไม่คุยกันเอง ในความเป็นจริง การบรรจุวาระการประชุมบอร์ด กสทช.เป็นอำนาจเต็มของประธาน และแม้จะมีการร้องขอจากกรรมการและอนุกรรมการให้บรรจุวาระเรื่องผลกระทบต่อผู้บริโภคจากการควบรวม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคนี้

ส่วนประเด็นบอร์ดได้มีมติอนุมัติมาตรการเฉพาะที่จะกำกับ ควบคุม และเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการควบรวมไปเมื่อ 1 ปีที่แล้ว หน้าที่ในการบังคับใช้เป็นหน้าที่ของ “สำนักงาน กสทช.” ที่มีดราม่าการแต่งตั้งเลขาธิการฯ คนใหม่ ที่ค้างเติ่งมาจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีเลขาฯ สำนักงาน กสทช.ใส่เกียร์ว่างอย่างชัดเจนในการบังคับใช้มาตรการเฉพาะต่างๆ หลายมาตรการ ที่ต้องทำเสร็จตั้งแต่ก่อนควบรวมก็ยังไม่ได้ทำ เช่น ให้ทรู-ดีแทค จัดให้มีหน่วยธุรกิจเพื่อให้บริการโครงข่ายแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือ MVNO หรือมาตรการที่ต้องทำหลังควบรวมภายใน 30 วัน เช่น จ้างที่ปรึกษามาศึกษาโครงสร้างต้นทุนสำหรับคำนวณราคาตามต้นทุนเฉลี่ย ก็ยังไม่ได้จ้าง
- รัฐบาลโชว์ผลงาน 90 วัน ภายใต้ผู้นำ นายก เศรษฐา เผยทำอะไรบ้าง?
- สว.วันชัย ตั้งข้อสังเกต เศรษฐา ลาพักร้อนใกล้วันครบรอบ ทักษิณนอน รพ.
- ค่าแรงขั้นต่ำ67 ฝ่ายนายจ้าง ลั่น คำนวณตามสูตร ยัน ที่ขึ้นให้ไม่น้อยแล้ว
ซึ่งรวมไปถึงการคุมค่าบริการให้ถูกลงไม่ต่ำกว่า 12% ถึงแม้สำนักงานจะแจ้งว่าทรู-ดีแทค ได้ลดค่าบริการลงแล้ว โดยค่าโทรลด 15% ส่วนค่าเน็ตลด 80% ที่สร้างความฉงนสงสัยแก่ผู้บริโภคว่าไปลดตอนไหน ค้านสายตากรรมการเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือแพ็คเกจราคาถูกหายไป และมีการปรับราคาจนเท่ากันหมดทุกค่าย แถมเรื่องการควบคุมคุณภาพสัญญาณ ก็เป็นปัญหา ตามมาตรการบอกว่า ทรู-ดีแทค จะต้องคงคุณภาพการให้บริการ แต่จากการสำรวจผู้บริโภค พบคำตอบว่าหลังควบรวมเกิดปัญหาสัญญาณห่วยเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าสำนักงาน กสทช. จริงจัง คงต้องดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริงไปแล้ว

“สรุปก็คือ หลังจากที่ทางบอร์ดมีมติรับทราบการควบรวมทรู-ดีแทค และเห็นชอบมาตรการคุ้มครองเยียวยาผู้บริโภคมาแล้วเป็นปี แต่เรามีสำนักงาน กสทช. ที่ใส่เกียร์ว่าง ไม่ยอมบังคับใช้มาตรการ อีกทั้ง ยังมีประธานที่รวบอำนาจไว้กับตัวเอง และบล็อกวาระที่จะทำให้เกิดสุญญากาศ ซึ่งบอร์ดไร้อำนาจในการตรวจสอบ ปล่อยให้ผู้บริโภคต้องรับกรรม” ศิริกัญญา กล่าว