ดร.ธนกฤต อัยการสูงสุดและที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการแผ่นดินเผยช่วงระยะเวลาไทม์ไลน์ช่วงเดือนที่ประเทศไทย ได้รัฐบาลใหม่หลังเสร็จสิ้นการ เลือกตั้ง 2566
ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 โดยจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต. ประกาศระยะเวลาการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลือกตั้ง 2566 กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
โดย ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดและที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thanakrit Vorathanatchakul ถึงช่วงระยะเวลาที่คาดว่าไทยจะได้รัฐบาลใหม่ โดยระบุว่า พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 127 กำหนดให้ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อได้จำนวน ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง และมาตรา 129 กำหนดให้ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ดังนั้น ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ มาตรา 127 และมาตรา 129 ดังกล่าว กกต.จะต้องประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง อย่างช้าสุดไม่เกินวันที่ 12 กรกฎาคม 2566

จากนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 84 กำหนดว่า เมื่อมี ส.ส. ได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดแล้ว ให้ดำเนินการเรียกประชุมรัฐสภาได้ โดยให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 121 กำหนดให้ภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก ดังนั้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 121 ดังกล่าว จะต้องมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า กกต.จะต้องประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่ออย่างช้าที่สุดไม่เกินวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ดังนั้น การเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกอย่างช้าสุดจึงจะเกิดขึ้นไม่เกินวันที่ 26 กรกฎาคม 2566
โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์มาทำรัฐพิธีก็ได้
จากนั้นจะมีการดำเนินการเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อได้บุคคลที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็จะไปสู่ขั้นตอนการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มา คาดว่าน่าจะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2566
เมื่อได้นายกรัฐมนตรีแล้วก็จะไปสู่ขั้นตอนการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2566 เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงคาดว่าน่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้าทำหน้าที่ในราวกลางเดือนสิงหาคม 2566

ระยะเวลา ปฎิทิน เลือกตั้ง 2566 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
20 มีนาคม 2566 พระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้
21 มีนาคม 2566 กกต. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
27 มีนาคม – 13 เมษายน 2566 วันลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต/นอกเขตเลืกตั้ง และนอกราชอาณาจักร
3-7 เมษายน 2566 วันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
4-7 เมษายน 2566 วันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
3 พฤษภาคม 2566 วันสุดท้ายเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
7-13 และ 15 -21 พฤษภาคม 2566 วันแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
7 พฤษภาคม 2566 วันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตและนอกเขตเลือกตั้ง และ วันลงคะแนน ณ ที่เลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ
14 พฤษภาคม 2566 วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY