วันนี้(20 มิ.ย.)ที่ประชุมครม. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นำครม. เยี่ยมชมอาคารเรือนรับรองหลังใหม่ในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุม-รับรองผู้นำต่างประเทศมูลค่า 137 ล้านบาท
ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย ครม.ได้แวะเยี่ยมชมอาคารเรือนรับรอง ทำเนียบรัฐบาล (ชื่อที่ใช้เรียกอย่างไม่เป็นทางการ) ที่ตั้งขนานริมคลองบริเวณด้านหลังตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งเป็นอาคารรองหลังลำดับที่ 2 ถัดจากตึกสันติไมตรี ที่เชื่อมต่อจากตึกไทยคู่ฟ้า ก่อสร้างโดยดำริของนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดประชุมรับรองผู้นำต่างประเทศที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย รวมทั้งใช้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาล โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ขอความอนุเคราะห์จากกรมยุทธโยธาทหารบกเป็นผู้ดำเนินการออกแบบ และกรมศิลปากรได้พิจารณารูปแบบอาคารเรือนรับรองและอนุญาตให้ดำเนินการสร้าง
สำหรับรูปแบบอาคารเรือนรับรองได้นำรูปแบบงานสถาปัตยกรรมโกธิคตอนปลาย ของตึกไทยคู่ฟ้ามาประยุกต์ โดยลดทอนลวดลายและเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่ให้มีความโดดเด่นกว่าตึกไทยคู่ฟ้า ภายในอาคารเรือนรับรองมีพื้นที่ใช้สอยประโยชน์รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,385 ตารางเมตร โดยพื้นที่ชั้นหนึ่งจำนวน 1,181 ตารางเมตร ประกอบด้วย 1.ห้องโถงใหญ่ สำหรับการจัดประชุมงานเลี้ยงรับรองและอื่นๆ จุคนได้ 150 คน 2.ห้องรับรอง 1 เป็นห้องรับรอง ภายใต้หลังคาทรงโดม ใช้สำหรับรับรองแขกของนายกรัฐมนตรี จุได้จำนวน 10 คน 3.ห้องรับรอง 2 เป็นห้องรับรองรูปทรงสี่เหลี่ยมใช้สำหรับรับรองแขกของนายกรัฐมนตรีจุได้จำนวน 8 คน 4.ห้องเตรียมอาหาร และ 5.ห้องน้ำ ส่วนพื้นที่ชั้น 2 จำนวน 204 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องควบคุมชั้น 2 และพื้นที่ร่วม ซึ่งห้องรับรองหลังนี้ได้ใช้งบประมาณกลางเดือน ก.ค.60 วงเงินงบประมาณ 137 ล้านบาท
ปัจจุบันการดำเนินการก่อสร้างอาคารเรือนรับรองหลังใหม่แล้วเสร็จ 98% ใช้ระยะเวลาดำเนินการแล้วจำนวน 449 วัน โดยกรมยุทธโยธาทหารบกจะสามารถส่งมอบอาคารเรือนรับรองให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานร่วมแสดงความเห็น หากมีข้อเสนอแนะในการปรับรายละเอียดเพิ่มได้เสมอ และทุกอย่างทำเพื่อประโยชน์ของทุกคน ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง โดยขอให้ทำให้ดี อย่าให้บกพร่อง นอกจากนี้เตรียมเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทัศนศึกษาเพื่อเยี่ยมชมศิลปะความงดงามของไทย
สำหรับการประชุม คสช. วันนี้คาดว่าจะมีการหารือเตรียมออกคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แก้ไขปัญหาพื้นที่แหล่งพลังงานที่ทับซ้อนเขต ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ที่ขณะนี้ได้รับผลกระทบจาก คำสั่งของศาลปกครองเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2560 ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้
ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม ในฐานะที่ปรึกษา คสช. จะเสนอ 4 แนวทางให้พิจารณา ทั้งการถอนสภาพ ซึ่งสามารถทำได้ แต่เกษตกรจะเสียประโยชน์ // การแก้ไขกฎหมาย แต่ใช้เวลานาน //การใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ ส.ป.ก. มาตรา 19 และมาตรา 30 เพื่อออกระเบียบนำพื้นที่ ส.ป.ก.ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ แต่ติดเงื่อนไขที่สามารถใช้ประโยชน์ได้แต่พลังงานทดแทน ด้านกังหันลมเท่านั้น ไม่สามรถปลดล็อกด้านปิโตรเลียม และแนวทางสุดท้ายคือ การออกเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44
ส่วนการประชุม ครม. จะพิจารณาข้อเสนอตัวแทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ // สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก ที่ขอให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ให้กับวิศวกรรมสถาน มหาวิทยาลัยของรัฐ และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ และให้วิศวกรไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อสร้าง
กระทรวงสาธารณะสุข จะรายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงกระบวนการประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น การแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลังมีการคัดค้านในหลายเวที เนื่องจากยังมีประชาชนหลายภาคส่วน ที่ต้องการนำเสนอความคิดเห็น เพื่อนำไปรวบรวมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป