รัฐบาล ยืนยัน เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และกระบวนการผลิตก็เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ปล่อยมวลสารสู่สภาพแวดล้อมต่ำกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินรุ่นเก่า ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมแน่นอน
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วานนี้(17 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมมีมติปลดล็อค เพื่อที่จะเดินหน้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่จังหวัดกระบี่ หลังจากชะลอโครงการมาเกือบ 2 ปี โดยรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ขึ้นมาเป็นคณะกรรมการพูดคุยและแสวงหาข้อเท็จจริง นำเสนอข้อคิดเห็นบางประการ ดำเนินการมากว่า 9 เดือน จึงได้ข้อสรุปนำเสนอนายกรัฐมนตรี แต่การดำเนินการต่อจะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย รวมทั้งให้นำข้อเสนอแนะจากการพูดคุยของคณะกรรมการไตรภาคี ไปประกอบการตัดสินใจด้วย
ทั้งนี้ความมั่นคงทางพลังงานโดยรวมของประเทศไทย ภาคใต้ถือเป็นจุดอ่อนด้านระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย 4 จังหวัด คือ พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง มีปริมาณโรงไฟฟ้าน้อยกว่าความต้องการใช้ไฟสูงสุด โดยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าถึง 800 เมกกะวัตต์ แต่มีโรงไฟฟ้าหลักที่ค้ำระบบอยู่เพียงแห่งเดียว คือ โรงไฟฟ้าน้ำมันเตา จังหวัดกระบี่ กำลังการผลิต 315 เมกกะวัตต์ จึงจำเป็นต้องพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อค้ำระบบบริเวณดังกล่าว เพราะภาคใต้ฝั่งอันดามัน จะมีปริมาณการใช้ไฟมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ร้อยละ 5 ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 3 และความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับเหตุผลที่เลือกถ่านหิน เนื่องจากที่ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติถึงร้อยละ 70 ในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อจะมีโรงไฟฟ้าก็น่าจะเลือกพลังงานประเภทอื่น เพื่้อลดความเสี่ยงและลดการพึ่้งพาก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ ซึ่งถ่านหินจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ส่วนในกระบวนการผลิตที่ถ่านหินอาจจะปล่อยมวลสารออกมาปนเปื้อนสภาพแวดล้อมนั้น พบว่าปัจจุบันได้รับการพัฒนาในระดับที่สามารถกำจัดมวลสารให้อยู่ในค่ามาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับได้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ มลภาวะที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะต่ำมาก เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินรุ่นก่อนๆ ดังนั้นเมื่อเลือกถ่านหินแล้ว ก็ต้องเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อจำกัดมวลสารไม่ให้ปนเปือนสภาวะแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง
นอกจากนี้โรงไฟฟ้าถ่านหิน ยังมีต้นทุนต่ำกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (LMG ) เพราะราคา LMG จะมีความผันผวนสูงกว่า ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินมีต้นทุนต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 40 จะเห็นว่าเมื่อในความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เชื้อเพลิงถ่านหินเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ต้นทุนที่ต่ำกว่าจะทำให้ค่าไฟฟ้าที่ส่งถึงผู้บริโภคลดลงด้วยในอนาคต